31 ก.ค. 2560
ความสุขแบบโลก ๆ นำทุกข์มาให้นับชาติไม่ถ้วน
ในฐานะที่เราเป็นสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก ในใจลึก ๆ ล้วนมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งเหมือน ๆ กัน นั่นคือการรักสุขเกลียดทุกข์ เหตุใดเราจึงพยายามศึกษาเล่าเรียน เหตุใดเราต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย เหตุใดเราจึงต้องอดทนอย่างมากในการดูแลรักษาครอบครัวไว้ เป้าหมายมีเพียงหนึ่งเดียว คือเราหวังว่าชีวิตของเราจะได้ความสุขและไม่ได้ความทุกข์ สัญชาตญาณนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจากไหน แม้แต่มดมันยังรู้ว่าต้องออกไปหาอาหาร หารูหารังอยู่ ทำไมล่ะ ก็เพราะว่ามันก็รักสุขเกลียดทุกข์ และด้วยพลังขับดันของสัญชาตญาณรักสุขเกลียดทุกข์นี้เอง ทำให้มนุษยชาติพัฒนาก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโลกมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้น พระองค์ทรงใช้แสงสว่างแห่งปัญญาอันยิ่งตรวจสอบความสุขที่สัตว์โลกอย่างเราพากันแสวงหาอยู่และพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเท่านั้นเราจึงจะรู้ความจริงอันนี้ได้
โดยการตรวจสอบด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ความสุขในชีวิตที่เราแสวงหากันอยู่มีความผิดพลาดอยู่ ๒ ข้อคือ ข้อที่ ๑ ดูกันเฉพาะในชาตินี้ ความสุขนั้นไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืน แปรเปลี่ยนไม่แน่นอน มีสุขก็เสื่อมจากสุขได้ คนโบราณจึงกล่าวว่า โลกียสุขนั้น "เมื่อได้มาก็กลัวว่าจะเสียไป เมื่อเสียไปก็จะเศร้าใจ" คือเมื่อเราได้โลกียสุข ในใจเราจะมีความกลัวเกิดขึ้น เพราะเรารู้ว่ามันจะเสื่อมสูญไปเมื่อไรก็ได้ และเมื่อเราสูญเสียความสุขนั้นไป ใจเราก็จะโศกเศร้าอาดูร ดังนั้น การที่เราแสวงหาโลกียสุขนั้น จะทำให้ชีวิตเราไม่สุขสงบอย่างยิ่ง เราจึงมักจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว วิตกกังวล นี่คือความผิดพลาดข้อแรก คือมันทำให้ชีวิตปัจจุบันของเราไม่สุขสงบ
ข้อที่ ๒ เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด เป็นความผิดพลาดที่จะส่งผลไปในชาติภพต่อ ๆ ไปของเราที่จะเวียนตายเวียนเกิดอีกนับไม่ถ้วน เพราะเวลาที่เราเสพโลกียสุขนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพด้านวัตถุหรือด้านความรู้สึก ก็เป็นเพียงโลกียสุขเท่านั้น เราจะเกิดความรักใคร่หวงแหน เราจะมัวเมาติดอยู่ในความสุขแบบโลกีย์นั้น จมลึกลงไปในสุขและไม่อยากถูกพรากจากสุขนั้น แต่ทว่าความกังวลใจที่เกิดจากความรักใคร่หวงแหนในสุขอย่างนี้ จะส่งผลต่อพลังวิบากกรรมในการเกิดการตายของเรา ก่อให้เกิดกิเลส มีวิบากกรรมเกิดขึ้น กลไกนี้ทำให้ประตูแห่งวัฏสงสารเปิดออก เข้าสู่การเวียนตายเวียนเกิดไปอีกนับชาติไม่ถ้วน ทั้งนี้เกิดจากการที่เราอยากได้ความสุขนี่เอง น่าเสียดายที่ความสุขแบบนี้เต็มไปด้วยกับดัก เพียงแค่เราต้องการเสพโลกียสุขหรือสุขแบบโลก ๆ ก็ต้องแลกมาด้วยการวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ คือเวียนตายเวียนเกิดไปอีกนับชาติไม่ถ้วน หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า เพื่อความสุขชั่วคราวสั้น ๆ เท่านั้น เราต้องทนรับความทุกข์ทรมานจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปอีกนับหลาย ๆ ชาติ แต่เราจะไม่เคยได้บทเรียนเข็ดหลาบหรอก เพราะเราจำไม่ได้ พอถึงชาติต่อไปเราก็จะทำอย่างเดิมต่อไปอีก
ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุผู้บวชใหม่บางรูปเมื่อได้ทำวัตรเสร็จแล้วก็จะนั่งสนทนากัน เรารู้กันว่าในสมัยนั้นมีสาวกที่มาจากศาสนาลัทธิอื่นมาบวชในพุทธศาสนาด้วย เช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เป็นต้น เนื่องด้วยลัทธินอกพุทธเหล่านี้มีการปฏิบัติฌานหรือสมาธิ เมื่อได้รับสัมมาทิฏฐิจากธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็จะบรรลุเป็นอรหันต์ได้โดยเร็ว นับว่าเป็นผู้ที่มีบุญบารมีมาก แต่ก็มีสาวกบางส่วนที่มาจากผู้ที่เป็นพ่อค้าหรือผู้ปกครองบ้านเมือง คนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีกุศลบารมีมาก เมื่อได้บวชกับพระพุทธเจ้าแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องทำวัตรเช้าเย็นตามอย่างพระตถาคต แต่เมื่อมีเวลาว่างอดีตพ่อค้าบางคนก็นั่งสนทนากันถึงความรุ่งเรืองร่ำรวยของตนในอดีต พูดเสร็จก็หัวเราะกันร่วน
พระตถาคตผู้มีโสตทิพย์แม้อยู่ในห้องพักก็ได้ยินที่พวกเขาพูดกัน จึงค่อย ๆ ดำเนินออกจากห้องไปสู่ที่ที่พวกเขานั่งสนทนากัน พระองค์ทรงตรัสถามทั้งที่รู้อยู่ว่า "พวกเธอกำลังทำอะไรกันอยู่หรือ?" ภิกษุก็ตอบไปตามความจริง พระตถาคตจึงตำหนิภิกษุเหล่านั้น ทรงตรัสเป็นกถาว่า "เมื่อตกอยู่ในกองเพลิงเผาไหม้ ไยจึงยังระเริงยินดีอยู่? เมื่อถูกกั้นขังอยู่ในความมืด ไยจึงไม่แสวงหาความสว่าง?" เมื่อก่อนพวกเธอรู้สึกรุ่งเรืองในโลกียสุข ความจริงเป็นความผิดพลาด เป็นอุปสรรคเครื่องกั้น เหมือนตกอยู่ในกองเพลิง เราเห็นแต่ความลวงของโลกียสุข เธอไม่เห็นหรือว่าเบื้องหลังของมันมีเพลิงร้อนเผาไหม้อยู่ คือ เพลิงกิเลส เพลิงวิบากกรรม เพลิงแห่งการแก่ เจ็บ และตาย ดังนี้แล้ว ความสุขอย่างนี้ควรแล้วหรือที่พวกเธอจะยินดีจนหัวเราะหัวใคร่กัน?
แล้วเราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ? ทำไมความสุขแบบนี้จึงนำทุกข์ในวัฏสงสารมาสู่เรา? เป็นเพราะว่าเวลาที่ใจของเราแสวงหาความสุขแบบโลก ๆ อยู่นั้น เราไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาธรรม แต่อยู่ในอวิชชาหรือความมืด เป็นความรู้สึกอย่างทื่อ ๆ และความมืดนั้นเองเป็นเครื่องกั้น ซึ่งเป็นจุดบอดที่มีอยู่ในเราทุกคน ความรู้สึกในการแสวงหาความสุขของเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกว่าได้บ้านเป็นความสุข บางคนไม่สนใจบ้านเท่าไร แต่ถ้าได้รถแล้วจะเป็นความสุข แตกต่างกันไปต่าง ๆ นานา แต่สรุปได้ว่าเรามักจะอิงเอาความรู้สึกของตนเองในการแสวงหาสิ่งที่เราคิดเองว่าเป็นความสุข แต่ในทางธรรมะเห็นว่า การเป็นไปตามความรู้สึกแบบนั้นเป็นความโง่เขลา ความคิดตามความเคยชินแบบนี้ติดตัวเรามาช้านานนับชาติไม่ถ้วน คือการคิดตามความรู้สึกไปแบบทื่อ ๆ นี่เอง
เรามีความปรารถนาต้องการความสุข แต่ในความสุขนั้นเราได้ติดกับดักแห่งทุกข์ในวัฏสงสาร นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ามากของชีวิต เราเหมือนไม่มีทางเลือก เราชอบแสวงหาความสุข แต่ในความสุขก็ทำให้เราติดกับอยู่ในวัฏสงสาร
เราไม่มีทางเลือกอื่นเลยจริง ๆ หรือ?
"ไยจึงไม่แสวงหาความสว่าง!" อันที่จริงเราสามารถสลัดออกจากความสุขแบบเดิม ๆ แล้วแสวงหาความสุขที่ไม่มีความผิดพลาดได้ และนี่ก็คือเหตุผลที่โลกมีพระพุทธเจ้ามาเกิด นั่นคือเราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ เราปรารถนาความสุข เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ เป็นความต้องการของสัตว์โลกทั้งปวง แต่ในระหว่างการแสวงหาความสุขนั้น นอกจากความรู้สึกโดยตรงแล้ว ต้องเพิ่มความสว่างทางปัญญาให้แก่จิตด้วย คุณค่าของความสุขของเราจะสูงขึ้นอย่างมาก เราจะสามารถเปลี่ยนจากความสุขที่มีความผิดพลาดมาเป็นความสุขจากการหลุดพ้นและไม่มีความผิดพลาด เรียกว่าเป็นบุญอันไพศาล เราสามารถเปลี่ยนจากกุศล (有漏的福报) ไปเป็นบุญอันไพศาล (无漏的万德 บุญที่ชำระกิเลสได้)* นี่ก็คือความสุขแบบที่ไม่มีความผิดพลาด ไม่มีบาป ซึ่งเราทุกคนทำได้
ดังนั้น การที่เราเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขคุณภาพของชีวิตเป็นหลัก เราไม่จำเป็นต้องเวียนตายเวียนเกิดไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรามีทางเลือก คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ไยจึงไม่แสวงหาความสว่าง" ก็หมายถึงในการดำเนินชีวิตของเรา เราสามารถเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า ใคร่ครวญตรึกตรองในคำสอน จิตใจของเราจะสามารถออกจากความมืดมาสู่ความสว่างได้ และด้วยความสว่างแล้วอันนี้เอง เราจึงแสวงหาความสุขใหม่ แต่ความสุขแบบนี้มันเป็นความสุขของการเป็นบุญอันไพบูลย์ เป็นบุญอันมากอย่างยากที่จะบรรยายได้ทีเดียว
ผู้เขียน พระอาจารย์ 净界法师
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20170726/040524.htm
หมายเหตุ * ตามตัวอักษรในต้นฉบับ มีคำที่พูดถึงบุญกุศลอยู่สองคำคือ 福报 กับ 功德 (หรือบางทีก็ใช้ 福德) ซึ่งผู้แปลยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้อย่างชัดเจน รู้แต่เพียงว่าคำแรกนั้นเป็นคุณความดีแบบที่รั่วไหลหกหล่นได้ แต่คำที่สองมีสภาพเป็นบุญที่แน่นอนกว่าเพราะมันทำลายกิเลสได้ จึงขอแปลแยกเป็น "กุศล" กับ "บุญ" ไว้เป็นพื้นไปก่อน โดยอิงตามที่ครูบาอาจารย์เคยสอนไว้ หากมีโอกาสและเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจคงจะได้ขยายความสองคำนี้ให้ชัดเจนขึ้นในครั้งต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์
วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...
-
โลกเรานี้ยังมีชนเผ่าที่แปลก ๆ อยู่ไม่น้อยเลย หลาย ๆ ชนเผ่ามีเอกลักษณ์ที่ประหลาดพิสดารอย่างเหลือเชื่อ เช่น มีชนเผ่าหนึ่งอยู่บนเกา...
-
ถั่วลิสงเป็นอาหารที่คนจีนนิยมกินกันมาแต่โบราณ ว่ากันว่า การกินถั่วลิสงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดและป้องกันโรคหัวใจ...
-
ใกล้จะครบสามเดือนแล้วที่ฉันได้เลิกกินเนื้อสัตว์ บางคนคิดว่าฉันเลิกเนื้อสัตว์เพื่อรักษาสุขภาพ บางคนก็คิดว่าฉันต้องการรักษารูปร่าง...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น