25 ก.ย. 2560

กินถั่วลิสงอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์และไม่มีโทษ



        ถั่วลิสงเป็นอาหารที่คนจีนนิยมกินกันมาแต่โบราณ ว่ากันว่า การกินถั่วลิสงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดและป้องกันโรคหัวใจได้ จริง ๆ แล้วถั่วลิสงมีคุณค่าอย่างไร ป้องกันโรคหัวใจได้จริงหรือ

        ถั่วลิสงมีคุณค่าอย่างไร


        ในสายตาของคนจำนวนมาก ถั่วลิสงเป็นของกินที่ดูพื้น ๆ บ้าน ๆ มาก แต่คุณค่าของมันมีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว

        ถั่วลิสงมีใยอาหารมาก แถมยังอุดมด้วยไขมันและกรดไขมัน โดยเฉพาะกรดไขมันไม่อิ่มตัว นอกจากนี้ ถั่วลิสงยังประกอบด้วยโปรตีนและวิตามินบี ๑ ค่อนข้างมาก รวมทั้งไนอะซิน (วิตามินบี ๓) ด้วย

        ดังนั้น อย่าได้เห็นว่าหน้าตาเจ้าถั่วลิสงนี้ดูเหมือนจะกระจอก ๆ แต่คุณค่าทางโภชนาการของมันนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เรียกได้ว่ามันคือ "อาหารที่มากด้วยคุณค่าแต่หน้าตาธรรมด๊าธรรมดา"

        ถั่วลิสงมีประโยชน์ต่อความแข็งแรงของหลอดเลือดหรือไม่


        จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศในยุคนี้ การกินถั่วลิสงในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์ต่อความแข็งแรงของหลอดเลือดได้จริง ๆ การกินเป็นประจำจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นเดียวกับการกินถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ เช่น อัลมอนด์ วอลนัท พิซทาชิโอ เฮเซลนัท เป็นต้น

        มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University - สหรัฐอเมริกา) ได้ศึกษาวิจัยกลุ่มทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งพบว่า กลุ่มคนที่กินถั่วลิสงทุกวัน วันละ ๔๒ กรัม มีไขมันในเลือดและความดันเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินอย่างเห็นได้ชัด

        ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ มหาวิทยาลัย Maastricht (ฮอลแลนด์) ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตโดยเปรียบเทียบในคนที่กินลูกเบอรี่และถั่วลิสงกับคนทั่วไป โดยติดตามผลจากกลุ่มทดสอบชาวฮอลแลนด์ที่มีอายุระหว่าง ๕๕ ถึง ๖๙ ปี จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ กว่าคน เป็นเวลานาน ๑๐ ปี ผลการวิจัยพบว่าคนที่กินถั่วลิสงวันละ ๕ กรัม มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่ไม่ได้กิน ๑๖ เปอร์เซ็นต์ และคนที่กินถั่วลิสงวันละ ๑๐ กรัม มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่ไม่ได้กิน ๒๓ เปอร์เซ็นต์

        ปี ค.ศ. ๒๐๑๗ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ได้ทำการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างและเปรียบเทียบในกลุ่มผู้ชายอ้วนและมีน้ำหนักเกินแต่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ โดยในมื้ออาหารหนึ่งมื้อซึ่งมีไขมันสูงให้กินถั่วลิสงด้วยประมาณ ๓ ออนซ์ (๘๕ กรัม) พบว่ามีผลในทางช่วยลดไขมันในเลือดได้ เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กินถั่วลิสงแล้วพบว่ากลุ่มที่กินถั่วลิสงในมื้ออาหารด้วยจะมีระดับของ Triglyceride ลดลง ๓๒ เปอร์เซ็นต์ และมีผลในทางสอดคล้องกันในค่าไขมันตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL Cholesterol) รวมทั้งระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดด้วย

        นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กินถั่วลิสงจะช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น โดยมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยสตรี ๕ หมื่นกว่าคน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๒๒ ปี พบว่าผู้ที่กินถั่วลิสงทุกวันจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้กิน

        กินถั่วลิสงอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อหลอดเลือด


        ถึงแม้ว่าถั่วลิสงจะมีประโยชน์ต่อความแข็งแรงของหลอดเลือด แต่ต้องกินให้ถูกวิธีจึงจะได้ผล หากกินไม่ถูกวิธีอาจมีผลเสียต่อหลอดเลือดก็ได้

        ๑. ไม่ควรกินมากเกินไป


        แม้ว่าถั่วลิสงจะมีประโยชน์ต่อหลอดเลือดก็ตาม แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องกินแต่น้อย เพราะว่าถั่วลิสงหรือถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ แม้จะมีคุณค่ามาก แต่ก็มีปริมาณไขมันไม่น้อยเลย ถั่วลิสง ๒๕๐ กรัมมีพลังงานเกือบ ๑๕๐๐ แคลอรี่ คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน นอกจากนี้ ถั่วลิสงยังมีรสชาติอร่อยด้วย จึงทำให้เราเผลอกินมากเกินไปได้โดยง่าย ถ้าไม่ระวังก็มีหวังได้รับพลังงานมากเกินไปอย่างแน่นอน

        ดังนั้น หากต้องการช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น การกินถั่วลิสงเราต้องควบคุมปริมาณให้ได้ อดใจไว้หน่อย ห้ามกินมากเกินไปเด็ดขาด

        สมาคมผู้ป่วยโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้แนะนำไว้ว่า ให้กินวันละไม่เกินหนึ่งกำมือ

        ในหนังสือ "คู่มืออาหารสำหรับประชาชนจีน" ปี ค.ศ. ๒๐๑๖ แนะนำว่า ในแต่ละวันร่างกายต้องการอาหารประเภทถั่ว ๒๕ ถึง ๓๕ กรัม หรือเท่ากับถั่วลิสงวันละประมาณ ๒๐ เมล็ด จึงเป็นปริมาณที่เหมาะสม *

        ๒. พยายามกินแบบไม่ปรุงแต่ง


        หลายคนชอบกินถั่วลิสงทอดหรือถั่วลิสงคั่ว เวลากินก็มักจะเติมเกลือลงไปด้วย และไม่ใช่เติมน้อย ๆ เลย การกินแบบนี้ไม่ดีต่อสุขภาพแน่ ๆ การเติมเกลือจะทำให้ร่างกายดูดซึมเกลือเข้าไปมาก ซึ่งไม่ดีต่อหลอดเลือดอย่างยิ่ง ส่วนการทอดด้วยน้ำมันนั้น เท่ากับยิ่งเพิ่มไขมันเข้าไปอีก ก็ไม่ดีต่อหลอดเลือดเช่นกัน ดังนั้น เวลาเรากินถั่วลิสงไม่ควรเอาไปทอดด้วยน้ำมันหรือปรุงด้วยเกลือ ควรกินเป็นถั่วต้ม ถั่วคั่วแบบแห้ง หรือทำเป็นยำถั่วลิสงกับซอสเปรี้ยว (อาหารจีน) จะดีกว่า

        ในท้องตลาดยังมีถั่วลิสงในรูปแบบต่าง ๆ ที่บรรจุสำเร็จมาเป็นแพ็คเกจอีกมากมาย มีรสเค็มบ้าง รสเผ็ดบ้าง มีหลายอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์เท่าไร ควรเลือกกินแบบที่ไม่ปรุงแต่งเลยดีที่สุด

        ๓. ไม่กินถั่วลิสงที่ขึ้นรา


        ถ้าถั่วลิสงขึ้นราแล้วมักจะมีสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสารพิษและเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วลิสงที่ขึ้นรา เวลาซื้อถั่วลิสงก็ต้องสังเกตให้ดีด้วยว่าขึ้นราแล้วหรือไม่ 


ที่มา https://view.inews.qq.com/a/20170918A0694C00

* ดร. ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำในการบรรยายในค่ายสุขภาพว่า ปริมาณในการกินถั่วลิสงที่พอเหมาะอยู่ที่ประมาณวันละ ๑ ถึง ๕ ช้อนแกง ขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายแต่ละคน โดยถือเอาตามหลักของแพทย์วิถีธรรมว่า ให้กินได้ในปริมาณที่รู้สึกสบาย ไม่ฝืดฝืนจนเกินไป และควรกินถั่วหลากหลายชนิดร่วมกันในแต่ละวันหรือในแต่ละสัปดาห์ จะเป็นประโยชน์ดีกว่ากินถั่วชนิดเดียวตลอดเวลา




1 ความคิดเห็น:

  1. ปริมาณที่กินนี่..ไม่ว่าจะหนึ่งกำมือ หรือ1-5 ช้อนแก้ง หมายถึง ถั่วแกะเปลือกหรือยังไม่แกะคะ

    ตอบลบ

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...