27 ก.ย. 2560

น้ำเต้าหู้ ดื่มอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด



        ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่รัฐบาลจีนแนะนำประชาชนว่ากินได้ทุกวัน เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์มาก ดังนี้

        ๑. มีโปรตีนคุณภาพดีมากกว่าเนื้อหมู ๒ เท่า มากกว่าไข่ไก่ ๒.๕ เท่า และยังถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าด้วย

        ๒. ในถั่วเหลืองมีเลซิติน (lecitin) มาก สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

        ๓. ถั่วเหลืองมีวิตามินบีมาก นอกจากนี้ สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ในถั่วเหลืองก็เป็นสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากด้วย 

        ถั่วเหลืองเป็นธัญพืชที่มีประโยชน์อย่างมาก มีวิธีทำเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย หนึ่งในวิธีรับประทานถั่วเหลืองที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายที่สุดคือทำเป็นน้ำเต้าหู้ ทว่าการทำน้ำเต้าหู้รับประทานนั้นมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

        ๑. ห้ามดื่มน้ำเต้าหู้ดิบ


        ในถั่วเหลืองดิบมีสารซาโปนิน (saponin) ซึ่งอาจทำให้มีอาการไม่สบายได้หลายอย่าง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด เป็นต้น นอกจากนี้ ถั่วเหลืองดิบยังมีสารยับยั้งเอนไซม์ทริพซิน (Trypsin inhibitor) ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายมีความสามารถในการย่อยโปรตีนได้น้อยลง รวมทั้งเซลล์เลคติน (lectin) ที่ทำให้เลือดแข็งตัว ส่วนเอนไซม์ urease ในเมล็ดถั่วก็มีผลยับยั้งกระบวนการเมตาบอลิซึมไอโอดีนในร่างกายด้วย

        อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการทำให้สุกด้วยความร้อน ดังนั้น ในการต้มน้ำเต้าหู้ควรจะต้มให้สุกก่อนรับประทาน เวลาต้มหากมีฟองขึ้นมามากก็ต้องลดไฟให้อ่อนลงและต้มต่อไปอีกประมาณห้านาทีก่อนจะนำมาดื่ม

        ๒. น้ำแช่ถั่วเหลืองต้องเททิ้งให้หมด


        ในขั้นตอนการเตรียมถั่วเหลืองก่อนจะนำมาทำน้ำเต้าหู้ เมื่อเราแช่ถั่วเหลืองไว้ในน้ำ เมล็ดถั่วจะดูดน้ำไว้แล้วพองตัว ในขณะเดียวกันสารเคมีในถั่วเหลืองจะละลายออกมาในน้ำ เช่น กรด tannic กรด oxalic กรด phytic รวมทั้ง flavonoid และวิตามินอื่น ๆ ที่ละลายในน้ำด้วย

        สารเหล่านี้ไม่เพียงทำให้น้ำแช่ถั่วเหลืองมีรสฝาดเฝื่อน แต่มันยังยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ ของร่างกายด้วย และการได้รับกรด oxalic มากเกินไปทำให้มีโอกาสเป็นโรคนิ่วในไตมากขึ้นด้วย

        ดังนั้น น้ำที่แช่ถั่วเหลืองควรเททิ้งให้หมด อย่าเสียดาย

        ๓. กากของถั่วเหลืองยังใช้ประโยชน์ได้ 


        กากของถั่วเหลืองที่เหลือจากการกรองเอาน้ำเต้าหู้ไปใช้แล้วนั้น มีใยอาหารอยู่เยอะมาก น่าเสียดายหากเอาไปทิ้งเสียเปล่า แต่จะเอามากินเลยก็ยังกินยาก ต้องดัดแปลงและปรุงแต่งอีกนิดหน่อย จะได้เป็นอาหารอีกอย่างที่น่ารับประทานทีเดียว

        ผสมแป้งสาลีกับกากถั่วเหลืองเข้าด้วยกัน ทำเป็นหมั่นโถวกากถั่วเหลืองหรือคุกกี้กากถั่วเหลือง เอามานึ่งหรือทอดกินก็ได้ หรือเวลาทำ "วอวอโถว" (หมั่นโถวชนิดหนึ่งของจีน) สามารถผสมกากถั่วเหลืองเข้าไปด้วย จะทำให้เนื้อวอวอโถวที่หยาบและแข็งมีรสสัมผัสร่วนซุยมากขึ้น

        คนที่ไม่ควรดื่มน้ำเต้าหู้


        ๑. คนเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ ไม่ควรกินอาหารที่ทำจากถั่ว เพราะจะไปกระตุ้นให้มีกรดในกระเพาะมากขึ้นและมีอาการปวดมากขึ้น

        ๒. ในถั่วมีโอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharides) ทำให้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ ดังนั้น ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารควรกินแต่น้อย ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ไตเสื่อม ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีโปรตีนแต่น้อย ๆ มิฉะนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้ไตทำงานหนักมากขึ้น 

        ๓. ออกซาเลต (oxalate) ในถั่วนั้นสามารถเข้าไปรวมตัวกับแคลเซียมในไตได้ กลายเป็นก้อนแข็ง ทำให้มีอาการนิ่วในไตรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนิ่วในไตจึงควรงดรับประทาน

        ๔. โรคเกาต์เกิดจากของเสียที่เหลือจากการใช้สารพิวรีนของร่างกาย ในถั่วเหลืองนั้นมีพิวรีนมาก และพิวรีนยังเป็นสารที่เป็นของเหลวด้วย ดังนั้น เมื่อนำถั่วเหลืองไปทำเป็นน้ำเต้าหู้ จะได้สารพิวรีนมากกว่าอาหารจากถั่วชนิดอื่น ๆ หลายเท่า ดังนั้น น้ำเต้าหู้จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ 


ที่มา
๑. https://view.inews.qq.com/a/20170911A03JP600
๒. https://kuaibao.qq.com/s/20170918A02ICR00

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...