8 ก.ค. 2560

พิษ ๕ ในมุมมองของนักจิตวิทยา



        ศาสนาพุทธ (มหายาน) สอนว่ากิเลสนั้นเกิดจากต้นเหตุสำคัญ ๖ ประการ ได้แก่ พิษ ๕ และการยึดอัตตา อุปสรรคทั้ง ๖ อย่างนี้เองที่ปิดกั้นปัญญา ทำให้จิตของเรามืดบอด พิษ ๕ อย่างในจิตนี้ประกอบด้วย โลภ โกรธ หลง อวิชชา และสงสัย มันเปรียบเหมือนยาพิษที่ขัดขวางการเจริญในธรรม เราจำเป็นต้องทำลายพิษ ๕ อย่างนี้ให้ได้จึงจะเห็นแสงสว่างแห่งพุทธิปัญญา

        ทุกวันนี้ความรู้ในพุทธศาสนาถูกนับว่าเป็นสมบัติล้ำค่าอย่างหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาสมัยใหม่ ในครั้งนี้ ศาสตราจารย์จู้จัวหง (祝卓宏) แห่งสถาบันวิจัยจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประเทศจีน จะอธิบายไขความให้เราฟังเรื่องพิษ ๕ ในศาสนาพุทธ ดังนี้

        โลภ - การติดอยู่ในอดีตและอนาคต

        ความโลภนั้นมีหลายอย่าง โดยทั่วไปก็คือความโลภในทรัพย์ กิน กาม เกียรติ ชีวิตคนทั่วไปล้วนหัวทิ่มหัวตำอยู่ในความโลภ เกลือกกลิ้งอยู่ในโลกียสุขอันเกิดจากโลภะ ไม่สามารถพาตัวเองออกมาได้ ในทางจิตวิทยาวิเคราะห์ได้ว่า ความโลภเกิดจากความเจ็บปวดในอดีต ความไม่พอใจต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน และความกังวลใจต่ออนาคต ด้วยเหตุแห่งโลภจึงหลงหลุดออกจากความเป็นจริงอย่างหนัก หลงติดอยู่ในความสุขสบาย ติดอยู่ในมายาของอดีตและอนาคตที่ตนเองสร้างขึ้นมา

        ลาภ ยศ สรรเสริญ ชีวิตที่เอาแต่กิน สูบ ดื่ม เสพ หลายคนยอมตนเป็นทาสของมัน เหมือนตัวละครตัวหนึ่งในซีรี่ส์เรื่อง "ในนามของประชาชน" (人民的名义) ที่ชื่อจ้าวเต๋อฮั่น เพราะความยากจนข้นแค้นในอดีตเขาจึงหาเงินอย่างบ้าคลั่งถึงสองร้อยล้านหยวน หรือตัวละครอีกตัวหนึ่งที่ชื่อเกาอวี้เหลียง เขาเลิกกับภรรยาตั้งนานแล้ว แต่เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายจึงยังยอมอยู่บ้านเดียวกันต่อไป

        ในชีวิตจริง อาการของโลภะอย่างเบาก็คือการติดในของอร่อย ช้อปปิ้ง บุหรี่ เหล้า ฯลฯ อย่างหนักก็คือการดิ้นรนแสวงหายศตำแหน่ง เงินเดือนสูง ๆ เส้นสาย หรืออยากรวย เป็นต้น ล้วนเป็นความโลภทั้งสิ้น เพื่อลาภ เพื่อยศ บางคนถึงขนาดไม่สนใจถูกผิดดีชั่ว ไม่เลือกวิธีการ จนกระทั่งชื่อเสียงกลายเป็นโซ่ตรวนผูกมัด ผลประโยชน์กลายเป็นกองไฟเผาตัวเอง และในที่สุดความปรารถนาที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้จะกลืนกินทั้งสุขภาพและจิตใจอันดีงามของเราไปจนหมดสิ้น 

        คนที่มีความโลภจัดควรจะได้สัมผัสชีวิตที่เป็นจริงให้มาก ๆ เสริมสร้างความประณีตละเอียดอ่อนทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึมซับถึงสาระที่แท้ของชีวิตบ้าง และพึงสังวรว่า "ต่อให้มีนาเป็นพันไร่ก็กินข้าวได้แค่วันละสามมื้อ มีบ้านมีตึกเป็นพันหลังก็นอนได้แค่เตียงแปดฟุต"

        ความสุขและความยินดีไม่เคยได้มาด้วยความโลภ ความมักน้อยรู้จักพอต่างหากจึงจะเป็นสุขอย่างยั่งยืน ลองออกไปดมกลิ่นหอมของดอกไม้บ้าง ชิมรสหวานของผลไม้บ้าง จับเข่าพูดคุยสนทนากับคนในครอบครัวบ้าง อย่าเอาแต่รับ อย่าเอาแต่ให้ ไม่เอาแต่คิด ไม่เอาแต่ขอ จัดการกับส่วนที่เกินของชีวิตด้วยหลักของการ "ทาน" ในศาสนาพุทธ เอาความปิติสุขที่ได้จากการแบ่งปันให้ผู้อื่นมาถมเติมจิตใจที่กลวงเปล่าเพราะความโลภ

        โกรธ - อารมณ์อัดอั้นที่หาทางระบายออกไม่ได้

        โกรธตรงข้ามกับโลภ โลภเป็นภาวะอารมณ์ของความพึงใจ โกรธเป็นภาวะอารมณ์ที่ไม่พึงใจ ไม่ชอบใจ โกรธคือโมโหโทโส เมื่อเราเจอเรื่องที่ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ อยากจะหลีกหนีหรือควบคุมมัน แต่ก็มีหลายครั้งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จึงก่อเกิดเป็นความโกรธ

        ความโกรธมีที่มาสองอย่าง อย่างแรกคือเหตุภายนอกที่ไม่เป็นไปตามความต้องการหรือแผนการของเรา อย่างที่สองคือเราเองหาทางออกจากทุกข์หรือความไม่พอใจไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงเกิดจิตโกรธแค้นที่มักต่อสู้ขัดขืน อยากเอาชนะ เมื่อร่างกายของเราถูกทำร้ายหรือศักดิ์ศรีโดนลบหลู่ ก็จะเกิดจิตที่อยากจะแก้แค้นหรือทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

        เรื่องทะเลาะเบาะแว้งต่าง ๆ เช่น ซื้อของแล้วได้ของไม่ครบบ้าง ถูกคนแอบเอาเรื่องไปนินทาฟ้องร้องบ้าง สามีภรรยาต่อว่ากันอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ฯลฯ ถ้าหากเราสะกดใจให้ยอมอ่อนลงไม่ได้ก็จะทำให้ความขัดแย้งเหล่านี้ถูกยกระดับขึ้น กลายเป็นการใช้คำพูดทิ่มแทง ด่าว่ากัน หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือต่อสู้กันได้ ศาสนาพุทธมีคำสอนว่า ความโกรธแค้นสามารถเผาทำลายบุญกุศลจนมอดไหม้หมดสิ้น เราจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงผลวิบากจากความโกรธให้ได้ 

        อดทนไว้ก่อน แล้วคลื่นลมก็จะสงบลง ยอมเขาบ้าง ทะเลก็จะโล่งฟ้าก็จะโปร่ง เมื่อใจเราเกิดอารมณ์ในทางลบ เช่น ร้อนรุ่ม เคียดแค้น เคืองโกรธ ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับเสียบ้าง ยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีอคติ แน่นอน ไม่ใช่ว่าจะต้องให้เราก้มหน้าก้มตายอมรับการดูถูกดูหมิ่นแต่อย่างเดียว แต่เราต้องพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นชัดเจนในส่วนที่เป็นความดื้อดึงของเราเองด้วย 

        คนอารมณ์ร้อนขี้โกรธควรจะอ่านเรื่องแนวเปรียบเทียบที่ให้ข้อคิดบ่อย ๆ เช่น คนที่ตกลงไปในโคลนตม ยิ่งตะเกียกตะกายก็ยิ่งจมลึกลงไป เวลาที่อยากระบายโทสะมาก ๆ ให้ลองคิดว่า "เราจะออกจากอารมณ์เพื่อตามดูอารมณ์" ฝึกหัดตัวเองให้รู้จักปล่อยวาง "ใครจะชมหรือจะด่าก็ไม่หวั่นไหว มองดูดอกไม้หน้าบ้านบานบ้างโรยบ้าง จะไปหรือจะอยู่ก็ไม่เป็นไร แหงนหน้าดูฟ้าดูเมฆลอยม้วนลอยล่องไปตามสายลม"

        หลง - อาการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน 

        เมื่อถูกชื่อเสียงคำสรรเสริญเข้าครอบงำ ด้วยความโง่เขลา ความเร่าร้อน และความมืดบอด คนเราก็มักจะโอ่อวด อวดชื่อเสียง อวดความสามารถ อวดมั่งอวดมี เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเรียกว่า "หลง" ในทางจิตวิทยา ความหลงหมายถึงพฤติกรรมหรือท่าทีที่เกิดจากการยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดื้อดึงเอาแต่ใจ ทำให้เป็นคนใจร้อน เย่อหยิ่ง และเกียจคร้าน

        คนที่มีนิสัยอวดดีจะทำลายความรู้สึกผู้อื่นเสมอ ทำให้เสียการงานและไม่บรรลุเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น บางคนประสบความสำเร็จนิดหน่อยทางด้านการเรียนหรือการงานก็มักจะอวดดี คิดว่าตัวเองเก่ง หรือลูกคนรวย ลูกคนใหญ่คนโตที่ชอบทำตัวเป็นคนชั้นสูง อวดร่ำอวดรวย เป็นชีวิตที่มีแต่การเปรียบเทียบแข่งขันและมักจะคิดว่าตนเองเก่งกว่าผู้อื่นเสมอ คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้อื่นไม่ชอบใจ ยังปิดกั้นปัญญาของตนเองให้มืดบอดด้วย สุดท้ายก็ตัวเองนั่นแหละที่จะต้องเสียหาย เพราะมันจะทำให้เรามองไม่เห็นข้อดีของผู้อื่นเลย

        ความเย่อหยิ่งอวดดีก่อให้เกิดจิตที่ไม่พากเพียร ขี้เกียจ เพราะคิดว่าตัวเองนั้นดีสุดแล้ว ไม่ต้องพัฒนาอะไรอีก ดังนั้น วิธีแก้ไขในการปรับปรุงพฤติกรรม เราควรจะมีความฝัน ตั้งเป้าหมายและทิศทางที่จะทำให้เจริญขึ้น กำหนดแนวทางให้ชัดเจน ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความอยากต่าง ๆ ที่แทรกเข้ามา มุ่งหน้าไปตามทิศทางแห่งคุณค่าที่เราตั้งไว้ให้ได้ 

        การตั้งจิตอ่อนน้อมถ่อมตนมาแทนที่จิตที่อวดดีถือดี รักษาสภาวะจิตเป็นแบบน้ำที่ไม่เต็มแก้วเอาไว้เสมอ ก็จะสามารถล้างความมานะถือดีได้ หากรู้จักรักษาจิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนไว้ก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ

        อวิชชา - ความสับสนระหว่างความจริงกับความลวง

        อวิชชาหรือความไม่รู้ คือการถือเอาความเห็นเป็นความจริง ถูกทำให้สับสนด้วยเรื่องหรือถ้อยคำที่ผิวเผิน มันมักจะนำไปสู่ความหลงใหลและความคิดเพ้อเจ้อ ในทางจิตวิทยา มันคือการสับสนปนเปกันระหว่างความรับรู้ในสมองกับความเป็นจริงในโลก มีผลให้แยกแยะเรื่องราวเหตุผลไม่ได้ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนเอง ไม่ฟังความเห็นของผู้อื่น

        อวิชชาหรือบางทีเราจะเรียกว่าความลุ่มหลงก็ได้ ในบางกรณีก็อาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง 

        ตัวอย่างเช่น การหลงรักใครสักคน หรือลุ่มหลงในงานอดิเรก เช่นการถ่ายภาพ วาดภาพ เป็นต้น ความลุ่มหลงในการแสวงหาความฝันของชีวิต สิ่งเหล่านี้จะมองว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งก็ได้ แต่อวิชชาแบบนี้มีประโยชน์ในการสร้างสรรค์งานและอนาคตของเราได้ระดับหนึ่ง  

        ในอีกด้านหนึ่ง อวิชชาอย่างหนักเป็นความหลงใหลที่จะทำให้เรากลายเป็นคนทึบทื่อ เหตุผลบอดใบ้ เช่น การหลงใหลชีวิตส่วนตัวของดารา ไม่เอาใจใส่การเรียนหรือการงาน ไม่รู้จักชื่นชมศิลปะหรือความสามารถของผู้อื่น เป็นเหมือนกับสโลแกนสร้างชาติในอดีตที่ตั้งไว้อย่างสวยหรูว่า "ในสามปีจะแซงหน้าอังกฤษ ห้าปีจะไล่ทันอเมริกา" เป็นการคิดฝันเกินความเป็นจริงไปไกลมาก อวิชชาแบบนี้จะกลายเป็นอุปสรรคถ่วงความเจริญในการพัฒนาตน พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และพัฒนาประเทศชาติ

        จิตที่มีอวิชชาคือการหลงยึดชนิดหนึ่ง การล้างความติดยึดนี้เราจะต้องแยกแยะความเห็นกับความรู้ให้ได้ก่อน ความเห็นก็ให้อยู่ในส่วนของความเห็น ความจริงก็ให้เป็นส่วนของความจริง เช่น เมื่อพบว่าเราได้หลงติดอยู่กับความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งเสียแล้ว ให้พิจารณาทบทวนความเห็นนั้นซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ ลองอ่านความเห็นนั้นด้วยความรู้สึกหลาย ๆ แบบ เช่น สงสัย ถามแย้ง ยินดี เสียใจ เป็นต้น

        ทำอย่างนี้แล้ว เราจะรู้ตัวได้ว่าสิ่งที่เราติดอยู่นั้นเป็นเพียงความเห็นเท่านั้น หรืออาจจะใช้ท่าทีแบบเป็นคนนอกมองดูตนเองก็ได้ ให้บอกกับตัวเองว่า "เราพบว่าในหัวของเรามีความเห็นอย่างหนึ่งคือ..."

        แน่นอน การลุ่มหลงในงานสร้างสรรค์แม้จะมีประโยชน์บ้าง แต่ก็ต้องให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี อย่าหลงใหลจนเกินไป ไม่เช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตนเองได้เหมือนกัน 

        ลังเลสงสัย - การขาดความมั่นใจในตนเองเพราะไม่มีศรัทธาให้ยึดเหนี่ยว

        สงสัยหมายถึงความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจ เกิดความสงสัยและปฏิเสธโดยที่ไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงเลย ความสงสัยในศาสนาพุทธไม่ได้หมายถึงความสงสัยใคร่รู้ เพราะการสงสัยใคร่รู้เป็นแรงผลักดันให้เราค้นหาสิ่งที่ยังไม่รู้และอนาคต แต่สงสัยในที่นี้คือการเชื่อตัวเองอย่างมืดบอด

        คนเราถ้าสงสัยมากไปก็จะหลงทางออกจากศรัทธาและทิศทางแห่งความเจริญได้ ในแต่ละวันที่ผ่านไปจะไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ตกหลุมแห่งความรู้สึกว่า "ชีวิตว่างเปล่าไร้ความหมาย" ดังในปัจจุบันที่สังคมเราอยู่ในกระแสของวัฒนธรรมแบบฟาสต์ฟู้ด ทำให้เราไม่มีเวลาได้ซึมซับคุณค่าทางวัฒนธรรม ไม่รู้จักเป้าหมายของชีวิต

        ในขณะที่การแข่งขันในสังคมยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงไม่มีเวลาและความสามารถพอที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และรื่นรมย์กับชีวิต พอมีอะไรมาทำให้สับสนหรือกระทบแรง ๆ เข้า ผลกระทบอย่างเบาก็ทำให้มีปมปัญหาค้างคาในใจ อย่างหนักก็ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง การที่ไม่มีเข็มทิศชีวิตของตัวเอง ปัญหาการขาดความศรัทธายึดเหนี่ยวของเยาวชนทุกวันนี้มีความรุนแรงอย่างมาก ดังมีคำที่พูดกันบ่อย ๆ ว่า "เรียนไปก็ไม่ได้ใช้" หรือ "ครอบครัวกาไก่ให้กำเนิดห่านหงส์ไม่ได้" สภาพเช่นนี้ทำให้เราหันหลังให้อดีต ปฏิเสธปัจจุบัน บางครั้งเราก็มีความเห็นแกว่งไปแกว่งมา บางทีเราก็แล่นไปหาอนาคตพร้อมกับหอบเอาความสงสัยใหม่ ๆ ไปด้วย

        Romain Rolland นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดก็คือคนที่ไม่มีศรัทธาในสิ่งใดเลย ไม่ว่าประเทศชาติหรือบุคคล ถ้ามีศรัทธาก็จะสามารถก้าวไปสู่ทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แสดงศักยภาพของตนออกมาได้ การที่จะละทิ้งความลังเลสงสัยนั้น เราต้องค้นหาสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตแต่ละช่วงเวลาให้ได้ กำหนดเป้าหมายของแต่ละช่วงให้ชัดเจน และเลือกเดินตามเส้นทางที่มีคุณค่าแก่ชีวิตตนเอง



เขียนโดย 祝卓宏 高阳
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20170705/029328.htm

หมายเหตุ พิษ ๕ ในที่นี้แปลเอาตามตัวอักษรในภาษาจีนคือ 五毒 (อู่ตู๋) ซึ่งพอจะเทียบเคียงได้กับนิวรณ์ ๕ ของเถรวาท แต่ก็ไม่ตรงกันเสียทีเดียว ในส่วนของคำอธิบายก็พยายามแปลให้ได้ใจความที่อ่านเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้ยึดถือตามต้นฉบับอย่างเคร่งครัดนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...