เทวะปะปนกับพุทธะ
วัฒนธรรมจีนมีการสั่งสมและผสมผสานมาอย่างหลากหลาย สามารถยอมรับศาสนาต่าง ๆ ที่สอนให้เป็นคนดีได้อย่างกว้างขวาง สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราเห็นคนจีนจุดธูปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเข้าใจผิดว่าเป็นศาสนาพุทธไปเสียหมด ความจริงแล้ว บรรดาเทพทั้งหลายในความเชื่อของชาวบ้าน เช่น เซี้ยฮ้วงเอี๋ย (城隍爷) ตี่จู้เอี๊ย (土地公) นาจา (三太子) ม่าจ้อโป๋ (妈祖) ฯลฯ ได้ถูกชาวจีนสวมเสื้อของความเป็นพุทธไปเสียแล้ว หารู้ไม่ว่าเทวะกับพุทธะนั้นคนละอย่างกัน ทั้งโดยแก่นและความเชื่อถือมีความแตกต่างกันอย่างมาก เราจึงควรมาศึกษาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน
ในศาสนาพุทธ เทพหรือเทวดาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในภพทั้งหก (สวรรค์ มนุษย์ อสูร เดรัจฉาน เปรต นรก) เทพจัดว่าเป็นจิตวิญญาณที่มีกุศลมาก อาจจะเป็นผู้ที่เคยทำความดีสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติหรือมนุษยชาติไว้ในชาติปางก่อน คนรุ่นหลังมีความสำนึกขอบคุณท่าน จึงได้ตั้งศาลขึ้นเพื่อแสดงความเคารพบูชา หรือเทพอาจจะเกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีปัญญามากพอ ไม่มีความรู้เรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จึงกราบไหว้บูชาต่อธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า แผ่นดิน เป็นต้น
คนทั่วไปเข้าใจว่าเทพเจ้ามีอำนาจควบคุมชีวิตและความตายของสรรพสัตว์ มีความสามารถครอบงำโชคเคราะห์และบาปบุญทั้งหมดได้ แต่หารู้ไม่ว่าเทพหรือเทวดาก็คือปุถุชนนี่แหละ แต่เป็นผู้ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การบำเพ็ญคุณงามความดี โดยที่ยังไม่มีระบบความคิดทางปรัชญาอย่างสมบูรณ์รอบด้าน การบูชากราบไหว้เทพเจ้าคือการขอพรในโลกนี้ เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ปัดเป่าเภทภัยต่าง ๆ แต่ไม่สามารถบรรลุความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เทพเจ้าในศาสนาอื่นมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะเจ้านายกับผู้รับใช้ ไม่มีทางเท่าเทียมเสมอกันได้
แต่พระพุทธเจ้าได้ละทิ้งราชบัลลังก์ ละทิ้งคู่ครองและบุตร ออกไปแสวงหาสัจจะ เป็นวิญญูชนผู้ออกบวช และได้รู้แจ้งแทงตลอดถึงความจริงทั้งชีวิตและจักรวาล ได้พิสูจน์การเข้าถึงปัญญาอันแท้จริงได้ พระองค์แสดงความจริงว่าบาปบุญและดีชั่วทั้งหลาย ล้วนเกิดจากตัวเราเองทั้งสิ้น
หากเราไม่ประพฤติปฏิบัติให้ถึงในใจ ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมและความคิดของเราอย่างแท้จริง การกราบไหว้บูชาอย่างมืดบอดไม่มีทางเข้าหาความดีและออกจากความชั่วได้ ยิ่งไม่อาจชำระกายใจให้บริสุทธิ์ได้ พุทธนั้นปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งปวงด้วยเมตตาและเสียสละด้วยความยินดี พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับมนุษย์คือครูกับลูกศิษย์ ขอเพียงเราปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ทุกคนก็สามารถเป็นพุทธะได้ ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธองค์กับมนุษย์นั้นเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ปัญญากับอวิชชา
มักจะมีคนวิจารณ์ว่าศาสนาพุทธเป็นลัทธิงมงาย อย่างไรจึงเรียกว่างมงาย? การเชื่อตาม ๆ กันไปโดยไม่ได้พิจารณาด้วยเหตุผลให้ถ่องแท้นั้นเป็นความงมงาย ผู้ที่วิจารณ์ส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ฟังธรรมของพุทธศาสนาเลย แม้แต่ความหมายของคำว่า "พุทธ" ก็ยังไม่รู้ แล้วก็ตัดสินเอาเองว่าศาสนาพุทธเป็นลัทธิงมงาย ผู้ที่วิจารณ์อย่างนี้ดูจะเขลาและงมงายยิ่งกว่าหรือไม่
แล้วการเชื่ออย่างมีปัญญานั้นเป็นอย่างไร มันคือการพิจารณาด้วยปัญญา ตรวจสอบอย่างรอบคอบ ให้รู้แน่ว่าเป็นคุณงามความดี สามารถทำให้คนหลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง แล้วจึงยอมรับเชื่อถือ แบบนี้จึงจะเรียกว่าเชื่อด้วยปัญญา เหลียงฉีเชา (นักคิดนักเขียนจีน) เคยกล่าวไว้ว่า "ศาสนาพุทธต้องเชื่อด้วยปัญญาไม่ใช่งมงาย" ศาสนาพุทธเองก็ไม่ยอมรับความงมงาย สนับสนุนให้ตรวจสอบค้นหาข้อสงสัยด้วยเหตุผล มีความใจกว้าง มีท่าทีในการรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง อันเป็นคุณลักษณะของการเชื่อด้วยปัญญา เป็นความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอื่น
ความเชื่ออื่นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพุทธ
ในวิถีชาวบ้านมีคติความเชื่อต่าง ๆ มากมาย มีการปฏิบัตินอกศาสนาพุทธอยู่หลายอย่าง ล้วนไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๑. การดูดวงพยากรณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เสี่ยงเซียมซี เสี่ยงทายด้วยไม้ (卜卦) ทายดวงดาว (紫微斗数) คลำกระดูก (摸骨) เป็นต้น การทำนายเหล่านี้เกิดจากคนไม่มั่นใจต่ออนาคตของตนเอง หวังว่าจะอาศัยสิ่งเหล่านี้มากำหนดทิศทางชีวิต แต่ศาสนาพุทธสอนว่า "อยากรู้เหตุในอดีตชาติ ให้ดูสิ่งที่ได้รับในชาตินี้ อยากรู้ผลในชาติต่อไป ให้ดูการกระทำในชาตินี้" ความคิดและการกระทำของเราเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตในอนาคต ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการดูดวงเลย เพียงแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เหตุ ผลก็จะเกิดตามเหตุที่ได้ทำไว้แล้วเอง
๒. การดูฮวงจุ้ย ศาสตร์ฮวงจุ้ยสัมพันธ์กับทิศทาง สนามแม่เหล็ก การไหลของน้ำ เป็นต้น มีหลักอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับธรรมชาติ สำหรับปุถุชนผู้ยังไม่รู้แจ้งในสัจธรรม ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ก็ยังมีอิทธิพลต่อเขาอยู่ แต่อริยะบุคคลผู้ได้อรหัตผลแล้ว ไปอยู่ที่ไหนที่นั่นก็จะเป็นดินแดนอันบริสุทธิ์และสว่าง ข้อนี้ยืนยันคำกล่าวที่ว่า "จิตของปุถุชนหมุนวนไปตามตำแหน่งแห่งที่ แต่ภพภูมิของพระอริยะกำหนดได้ตามจิต" อย่างไรก็ดี ศาสนาพุทธเน้นการปฏิบัติที่จิต สภาวะจิตภายในมีความสำคัญกว่าสภาพภูมิประเทศภายนอกอย่างมาก
๓. ทรงเจ้าเข้าผี (跳神扶乩) เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบ้าน อาศัยวิญญาณเป็นสะพานเชื่อมต่อ เพื่อการวอนขอสิ่งต่าง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่คำสอนในศาสนาพุทธอย่างแน่นอน จัดอยู่ในพวกไสยศาสตร์
๔. การโยนถ้วยถามเทวดา (掷杯筊) มนุษย์กับเทพไม่สามารถสื่อสารกันได้ เรื่องนี้มันเป็นการถามเองตอบเอง และเดาเอาว่าเป็นเจตนาของเทวดาเสียมากกว่า
๕. การเผากระดาษเงินกระดาษทอง ประเพณีนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยกลวิธีการตลาดของพ่อค้ากระดาษในสมัยนั้น สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีการพัฒนามาเป็นการสร้างสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นกระดาษ เชื่อกันว่าเผาไปให้ผู้ตายได้ใช้ แต่ศาสนาพุทธสอนว่า ถ้าต้องการทำกงเต็ก (แปลตามอักษรว่ากุศลกรรม) ควรจะให้ทาน พิมพ์หนังสือธรรมะ หรือบำรุงพระรัตนตรัยในนามของผู้ตาย จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ตายได้มากกว่า การเผากระดาษเงินกระดาษทองและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ นั้น มีแต่ภพของผีของเปรตเท่านั้นที่จะใช้ได้ แต่ผู้ตายนั้นอาจจะไม่ได้ไปผุดเกิดในภพของผีเปรตเลยด้วยซ้ำ
๖. ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเครื่องสังเวยบูชา ผู้ไม่ประสามักจะไหว้พระพุทธเจ้าด้วยเป็ด ไก่ หมู ปลา ฯลฯ แม้จะแสดงความเคารพบูชาด้วยใจจริง แต่ทว่าศาสนาพุทธสอนให้มีจิตใจเมตตากรุณา สอนว่าทุกชีวิตเท่าเทียมเสมอภาคกัน เคารพในสิทธิของการมีชีวิตอยู่ของดวงวิญญาณทั้งหลายในโลก นอกจากนี้ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดและตายวนเวียนอยู่ในภพทั้งหกนั้นล้วนเคยเป็นญาติกันมาก่อนทั้งสิ้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นในชาติก่อนเคยเป็นพ่อเป็นแม่เรามาหรือไม่ ศาสนาพุทธจึงกำหนดศีลข้อแรกเป็นพื้นฐานไว้เลยว่า ห้ามฆ่าสัตว์
มองโลกในแง่ลบ กราบไหว้บูชาตัวบุคคล
ศาสนาพุทธได้เปิดเผยผ้าคลุมของชีวิตออก ให้เห็นความจริงว่ามันเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจธรรมะของศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้ง มักจะตีความตามตัวหนังสืออย่างผิวเผิน แล้วคิดเอาว่าศาสนาพุทธนั้นมองโลกในแง่ลบ หดหู่เศร้าหมอง อันที่จริง ศาสนาพุทธมองการทำอกุศลกรรมในแง่ลบ แต่มีท่าทีเป็นบวกอย่างยิ่งต่อการทำกุศลช่วยสัตว์โลกและมีจิตใจเสียสละให้แก่ผู้อื่น
ศาสนาพุทธมีปณิธานที่จะพาสัตว์ทั้งปวงให้พ้นทุกข์ จึงมีจิตที่เมตตากรุณา ไม่ใช่จิตที่ปลดปลงอย่างเศร้าหมอง ยังมีคนอีกมากที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าคนที่บวชเป็นพระเป็นคนไม่กตัญญู หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในสังคม เขาไม่รู้เลยว่าในสังคมต้องการบทบาทหน้าที่อันหลากหลาย จำเป็นต้องมีบุคลากรหลาย ๆ ด้าน ภาระหน้าที่ในการกอบกู้จิตวิญญาณของสังคม ต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นกำลังอย่างสำคัญ การออกบวชเป็นเรื่องของลูกผู้ชาย ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอก การออกบวชจึงจะเป็นการกตัญญูอย่างแท้จริง เพราะเป็นการออกจากบ้านของกิเลส เพื่อปลูกเชื้อแห่งพุทธมาสู่ตน นำพาธรรมะมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนเองและผู้อื่น พระโพธิสัตว์ตี้จ้าง (地藏菩萨) ผู้ได้ชื่อว่าลงไปช่วยโปรดมารดาถึงในนรก พระองค์ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า "ตราบใดที่นรกยังไม่ว่างจากผู้ตกทุกข์อยู่ เราจะไม่เป็นพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อสัตว์ทั้งปวงข้ามพ้นทุกข์แล้วเท่านั้น จึงจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ" ท่านลองคิดดูเถิดว่าการตั้งจิตแบบนี้เป็นความคิดในเชิงบวกมากเพียงใด
สาวกของศาสนาอื่นมักจะวิจารณ์ว่าศาสนาพุทธกราบไหว้แต่บุคคล แต่เขาไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสร้างพระพุทธรูปก็เพื่อเป็นเครื่องรวมจิตใจ เพื่อให้ผู้ที่กราบไหว้ได้มองเห็นทั้งรูปและนาม เพื่อเรียนรู้แก่นคำสอนและการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อการอ้อนวอนร้องขอ ก็เหมือนกับสัญลักษณ์ธงชาติ เพลงชาติ ไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ พระพุทธรูปนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งพระธรรมคำสอน ศาสนาพุทธโดยแท้จริงแล้วไม่ยึดติดในรูปธรรม ไม่หนีโลก แต่ก็ไม่ติดในโลก ยิ่งในคัมภีร์ "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร" แต่ละถ้อยคำล้วนมุ่งสลายความเป็นรูป แล้วจะว่าเป็นการบูชาบุคคลได้หรือ
เขียนโดย พระอาจารย์ 慧律法师
ที่มา http://rufodao.qq.com/a/20131001/003993.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น