4 ส.ค. 2560

ความหมายของคำว่ากินมังสวิรัติกับกินเจในจีน



        คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการกินมังสวิรัติ (素) ก็คือการกินเจ (齋) จริง ๆ แล้วสองคำนี้มีความแตกต่างกันอยู่ *

        ทำไมหลายคนจึงแยกไม่ออกระหว่างกินมังสวิรัติกับกินเจล่ะ? อาจเป็นเพราะว่าในวัดท่านกินแต่มังสวิรัติกัน อันที่จริงกินมังสวิรัติกับกินเจนั้นไม่เหมือนกันเลย กินมังสวิรัติ (แบบจีน) คือการไม่กินอาหารที่เรียกว่า 荤 (ฮุน) และ 辛 (ซิน) ฮุนก็คืออาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งไข่และนมด้วย ซินก็คือพืชผักที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง ๕ ชนิดคือ ต้นหอม กระเทียม กุ้ยช่าย หัวหอมเล็ก หัวหอมใหญ่ บางทีก็รวมไปถึงผักที่มีกลิ่นฉุนอื่น ๆ ที่คล้ายกันด้วย เช่น หอมแดง หอมป่า เป็นต้น

        ความแตกต่างระหว่างกินมังสวิรัติกับกินเจคือไม่กินอาหารหลังเที่ยง

        คำว่ากินเจเป็นคำศัพท์ทางศาสนา สำหรับศาสนาพุทธหมายถึงการไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน ในความหมายนี้อาหารที่กินจะเป็นอะไรก็ได้ จะกินมังสวิรัติก็ตาม หรือกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ขอเพียงแต่ไม่กินหลังเวลาเที่ยงวันเท่านั้นก็ถือได้ว่าเป็นการกินเจแล้ว การกินเจถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับศาสนาพุทธ ถือว่าเป็นศีลที่สาวกของศาสนาพุทธต้องปฏิบัติ ศาสนาอื่นก็มีการกินเจ และให้ความสำคัญกับการกินเจอย่างมากด้วย

        ประเด็นสำคัญของการกินเจคือไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน ในที่นี้ต้องทำความเข้าใจคำว่าหลังเที่ยงวันให้ดี ศาสนาพุทธแบ่งเวลาในหนึ่งวันเป็น ๖ ช่วง มีกลางวัน ๓ ช่วง และกลางคืน ๓ ช่วง ช่วงเวลาหลังเที่ยงวันถ้าเทียบกับเวลาในระบบปัจจุบันก็คือประมาณบ่ายสองโมงไปแล้ว แต่ก็มีบางคนตีความว่าเวลาเที่ยงวันคือ ๑๒ นาฬิกา หลังเที่ยงวันก็คือหลัง ๑๒ นาฬิกา

        การกินเจก็หมายถึงเมื่อเลยเวลาเที่ยงวันไปจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไปจะไม่กินอาหาร เวลารุ่งเช้าที่ว่านี้ถ้าจะระบุให้ชัดเจนลงไปก็คือเวลาที่เราสามารถมองเห็นเส้นลายมือได้โดยไม่ต้องใช้แสงไฟอย่างอื่นช่วย ในระหว่างการงดอาหารนี้สามารถดื่มน้ำหรือของเหลวได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ เป็นต้น ในสมัยพุทธกาลพระมหากัสสปะที่ถือธุดงควัตรนั้นแม้แต่น้ำผลไม้ก็ไม่ดื่ม แต่ปัจจุบันมีนักบวชบางส่วนไม่สามารถปฏิบัติข้อนี้ได้ จึงมีการเปิดช่องให้กินเป็น "ยา" ได้ คือให้ถือว่าอาหารนั้นเป็นยา กินเพื่อรักษาอาการหิวเท่านั้น จึงเรียกอาหารมื้อค่ำในวัดว่า "อาหารโอสถ"

        ความเป็นมาของการกินมังสวิรัติและกินเจ

        ศาสนาพุทธในดินแดนจีนของชาวฮั่นเริ่มกำหนดให้กินมังสวิรัติมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (梁武帝 พ.ศ. ๑๐๐๗ - ๑๐๙๒) ยุคราชวงศ์เหนือใต้ ดังนั้น อาหารในวัดจึงเรียกว่า 素齋 หมายถึงกินมังสวิรัติโดยไม่กินอาหารหลังเที่ยงด้วย โดยทั่วไปก็คือการกินข้าวต้มในตอนเช้ากับกินเจตอนกลางวัน แน่นอนว่าในสมัยนั้นต้องเป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด เป็นวัตรปฏิบัติของผู้ออกบวชที่อยู่ในวัดต่าง ๆ ในสมัยนั้น และยังคงถือปฏิบัติกันในหลายวัดมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับฆราวาสทั่วไปเวลากินเจอาจจะใช้คำว่า 素齋 ด้วยก็ได้ 

        อาหารโอสถยามค่ำนั้นเกิดจากการที่คนสมัยนี้ต้องทำงานในเวลากลางวัน พอถึงกลางคืนถ้าไม่กินอะไรเลยจะทนไม่ไหว จึงเปิดช่องให้กินเป็นยาได้ ความหมายก็คือกินเป็นยาเพื่อรักษาโรคความหิว ดังนั้นเวลาค่ำในโรงเจจึงนำอาหารที่เหลือจากตอนกลางวันออกมาให้แก่ผู้ที่ต้องการกินเป็นอาหารโอสถ โดยปกติจะไม่มีการทำอาหารใหม่ ผู้ที่กินก็ต้องมีความละอายในใจอยู่ ต้องแอบกินเงียบ ๆ พอให้หายหิวแล้วจบเรื่องไป

        เกี่ยวกับเรื่องกิน มีศีลที่เกี่ยวข้องมากมาย ในที่นี้ไม่สะดวกที่จะอธิบายได้ทั้งหมด เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวัน จึงมีเรื่องที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง บทความนี้ต้องการบอกแต่เพียงว่ากินมังสวิรัติกับกินเจนั้นแตกต่างกันเท่านั้น เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบไว้ว่าอย่าถวายอาหารให้พระเมื่อเลยเวลาเที่ยงวันไปแล้ว จะกลายเป็นเรื่องถูกหัวเราะเยาะหยันไป

        เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจความแตกต่างระหว่างการกินมังสวิรัติกับกินเจแล้ว บางท่านก็จะคลายความสงสัยสับสนไปได้ เพราะมีบางท่านที่เพิ่งเริ่มศึกษาศาสนาพุทธกลัวว่าเมื่อเริ่มศึกษาแล้วก็ต้องกินมังสวิรัติให้ได้ คิดว่าตนเองคงจะปฏิบัติไม่ได้จึงเกิดความวิตกกังวลเศร้าหมอง รู้สึกว่าพุทธศาสนาเข้าถึงได้ยาก อันที่จริง ศาสนาพุทธไม่ได้บังคับให้ฆราวาสต้องกินมังสวิรัติให้ได้ แต่ก็แน่นอนว่าถ้าสามารถกินมังสวิรัติได้ก็จะเป็น "เรื่องดีของชีวิต" อย่างหนึ่ง

        การกินเจจะได้อานิสงส์ ๕ อย่างคือ ลดกาม ลดความง่วงหงอยเกียจคร้าน มีจิตตั้งมั่น ไม่มีลมในท้อง และกายสงบมั่นคง นอกจากนี้ยังมีผลให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วยง่ายด้วย


ที่มา http://rufodao.qq.com/a/20150719/014554.htm

หมายเหตุ * การอธิบายความในบทความนี้อ้างอิงตามคำภาษาจีนสองคำคือ 吃素 กับ 吃齋 ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจของคนไทยในปัจจุบันเสียแล้ว อันที่จริง ตัวอักษร 齋 (อ่านว่า "ไจ") ที่เรามักเห็นในธงสีเหลืองตามร้านอาหารในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเป็นตัวเขียนแบบดั้งเดิม มีที่มาจากการถือศีลไม่กินอาหารหลังเที่ยงของพระในวัดจีนที่เรียกว่า 素齋 (ซู่ไจ) ซึ่งในทางปฏิบัติคือการกินอาหารมังสวิรัติและไม่กินอาหารหลังเที่ยงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...