6 ส.ค. 2560

รู้จักปล่อยวางจึงจะเป็นอิสระ



        หลายครั้งที่เรารู้สึกเหนื่อย ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความเหนื่อยทางกาย แต่เป็นความเหนื่อยทางใจ คือใจมันถูกผูกมัดรัดรึงด้วยเรื่องที่ปล่อยวางไม่ได้หลาย ๆ เรื่อง ถูกการงานกดดันบีบคั้นจนอ่อนเปลี้ย ความสุขที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุดของชีวิตก็อาจจะดูเลือนลางห่างไกลเหมือนภาพลวงตาของเมืองที่ปรากฏอยู่ในทะเล (mirage) ดังนั้น ชีวิตที่ต้องการเป็นอิสระอย่างแท้จริงจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปล่อยวาง

        ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ชื่อว่า "นิ้วดำ" มาพบพระพุทธเจ้า พราหมณ์นั้นต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ของตนเองให้เห็นจึงใช้มือแต่ละข้างยกแจกันดอกไม้ใบเขื่องถวายแด่พระพุทธเจ้า (แจกันหนักขนาดที่คนปกติแบกด้วยสองมือยังไม่ค่อยไหว) แล้วขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง

        พระตถาคตตรัสแก่พราหมณ์ว่า "วางลงเถิด"

        พราหมณ์จึงวางแจกันในมือซ้ายของตนลง

        พระตถาคตยังคงตรัสว่า "วางลงเถิด"

        พราหมณ์จึงวางแจกันในมือขวาลงอีก

        จากนั้นพระตถาคตยังคงตรัสแก่พราหมณ์อยู่ว่า "วางลงเถิด"

        คราวนี้พราหมณ์มีสีหน้างุนงง "สองมือของข้าพเจ้าว่างเปล่าแล้ว วางหมดทุกอย่างแล้ว ขอถามว่าท่านยังบอกให้เราวางสิ่งใดอีกหรือ"

        พระตถาคตตรัสว่า "ที่เราบอกให้ท่านวางลงนั้นไม่ใช่แจกันในมือ แต่บอกให้ท่านวางอินทรีย์ทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ผัสสะทั้งหก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์) และเวทนาทั้งหก (ความรู้สึกจากการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส รับรู้ธรรมารมณ์) เมื่อท่านสามารถวางสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว สิ้นเกลี้ยงแล้ว ท่านจึงจะพ้นจากพันธนาการแห่งชีวิตได้"

        พราหมณ์ฟังแล้วตบกระหม่อมตัวเอง ได้บรรลุธรรมในขณะนั้นเอง "เออหนอ บัดนี้ข้าพเจ้าเพิ่งเข้าใจว่าความมุ่งหมายของการมาที่นี่ก็เพื่อการปล่อยวางนี้เอง พระองค์ได้เปิดเผยสัจธรรมเช่นนี้ ทำให้จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเบาสบายขึ้นมากแล้ว" พูดจบก็รีบทำความเคารพพระตถาคตอย่างนอบน้อม



        ปุถุชนบนโลกล้วนแบกภาระหนักอึ้งไว้บนบ่า ความกดดันในจิตใจนั้นหนักหนายิ่งกว่าแจกันดอกไม้ในมือของพราหมณ์อย่างเหลือคณานับ ก็ภาระและความกดดันเหล่านี้เองที่ทำให้ชีวิตต้องทนทุกข์อย่างสาหัสสากรรจ์

        เราจำเป็นต้องปล่อยวางเพื่อลดโหลดที่มากเกินไปเหล่านี้เสีย เป็นอย่างที่นักปฏิบัติธรรมมักจะพูดกันว่า "เพียงคิดปล่อยวาง ทางแห่งอิสรภาพก็กางกว้าง" คำว่าปล่อยวางก็คือการเอาออกซึ่งใจที่คิดแบ่งแยกเราเขา ใจที่ยึดความถูกความผิด ใจที่ยึดความได้ความเสีย ใจที่ยึดตัวยึดตน วางความเศร้าหมองในอดีต ไม่กังวลต่ออนาคต ไม่ยึดมั่นในปัจจุบัน มีแต่ต้องวางเสียก่อนจึงจะถือได้อย่างแท้จริง มีแต่ต้องวางเท่านั้นจึงจะได้รับความหลุดพ้นและเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีทางปลดพันธนาการของจิตใจได้ เหมือนในมือของเราที่กำอะไรสักอย่างไว้แน่น กลัวว่ามันจะหลุดหายไป เราจะรู้สึกเหนื่อยในใจ การไม่ยอมวางของเก่าออกจากมือก็จะไม่มีโอกาสถือครองสิ่งใหม่ หากเรายึดถือความคิดของตนเองไว้อย่างแน่นหนาตายตัว ไม่สามารถคายของเก่าเพื่อรับของใหม่ได้ ปัญญาของเราก็จะไม่สามารถเจริญขึ้นได้ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นแน่นหนาตีบตันไปเลยก็ได้

        อย่างไรก็ตาม การปล่อยวางนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย โลกโลกีย์เต็มไปด้วยสิ่งยั่วเย้าลวงหลอก เมื่อเรามีสรรเสริญก็จะวางสรรเสริญไม่ได้ มีลาภมียศก็จะวางลาภวางยศไม่ได้ มีเงินทองก็จะวางเงินทองไม่ได้ มีบ้านหลังใหญ่ก็จะวางบ้านไม่ได้ มีหญิงงามเป็นภรรยาก็จะวางหญิงงามไม่ได้... ลาภ ยศ สรรเสริญ สิ่งต่าง ๆ ในโลกแห่งโลกีย์ ด้วยเหตุที่ในใจเราถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านี้ เราจึงดูถูกมัน ต่อต้านมัน โจมตีมัน พร่ำพูดว่าจะต้องตัดขาดจากมัน สาบานอย่างเด็ดขาดว่าจะกบฏต่อมัน... มันเป็นสิ่งซึ่งหากไม่ได้มาก็จะเป็นทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่หากได้มาจะทุกข์ยิ่งกว่า เมื่อใดที่ใจเราถูกครอบงำด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ เมื่อนั้นก็จะมีความเศร้าหมองเป็นเพื่อน ตัดไม่ขาด วางไม่ลง

        คนเราเมื่อชอบสิ่งใดก็จะวางไม่ลง ไม่ชอบ (มีความชัง) ก็วางไม่ลงเหมือนกัน เพียงแค่เรื่องของคนหนึ่งคน หรือเรื่องอะไรสักเรื่องเท่านั้น เราก็จะรู้สึกอึดอัดขัดข้อง วางไม่ลง เพียงแค่คำคำเดียว สิ่งของอย่างเดียว เราก็เกิดความคร่ำครวญในใจ วางไม่ลง... เพราะเหตุที่วางไม่ลง จิตใจก็จะถูกยึดครองด้วยความรู้สึกชอบ ชัง เศร้า กลัว รัก เกลียด โลภ... สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนก้อนหินใหญ่ทับอยู่ในจิตใจ มันหนักจนเหมือนจะหายใจไม่ออก ทำให้เรามีความเศร้าหมองและเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่สามารถปลดปล่อยและเป็นอิสระได้

        หากเราไม่กำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปเสีย ชีวิตจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ทว่าก้อนหินในใจนี้เราต้องเป็นคนหยิบออกด้วยตนเอง ให้คนอื่นช่วยทำให้ไม่ได้เลย การเตือน การปลอบใจ และการให้กำลังใจของผู้อื่นจะมีผลก็แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น มีแต่ต้องปฏิบัติพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนปัญญาของตนเองเท่านั้นที่จะมีผลได้จริง ๆ เพราะถ้าไม่มีปัญญาก็จะปล่อยวางไม่ได้ ไม่ว่าใครจะเอาเปรียบเราไปเท่าไร ไม่ว่าใครจะทำร้ายเราแค่ไหน ไม่ว่าใครจะรังแกเราขนาดไหน ไม่ว่าใครจะโกหกหลอกลวงเราเรื่องอะไร เมื่อเรื่องมันผ่านไปแล้ว เราจะไม่เก็บเรื่องเหล่านี้ไว้ในใจอีก เราก็จะเป็นอิสระอย่างยิ่ง

        สรุปว่าการปล่อยวางคือความใจกว้าง เป็นความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นความแววไวแห่งปัญญา ความเข้าใจที่จะปล่อยวาง เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ฝึกหัดในการปล่อยวาง จึงจะได้อิสรภาพและความสุข จึงจะได้ความหลุดพ้นอย่างแท้จริง


เขียนโดย 吕静霞
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20170629/019116.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...