27 ต.ค. 2560

การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ



"ช่วงเทศกาลกินเจ เป็นช่วงเวลาที่คนจำนวนมากนัดกันหยุดกินเนื้อสัตว์ โดยหันมากินพืชแทน สัตว์จำนวนมากจึงไม่ถูกฆ่าตายในช่วงเวลานี้ เทศกาลกินเจจึงมีส่วนช่วยให้สัตว์รอดตายเป็นจำนวนมาก การช่วยให้สัตว์รอดตาย โดยไม่ถูกคนฆ่าด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือด้วยสาเหตุต่าง ๆ เป็นภาระหน้าที่อันควรของพระพุทธเจ้าและพุทธบริษัทหรือไม่ หาคำตอบได้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์หรือไม่ฆ่าสัตว์ การกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ในพระไตรปิฎก ..."

        เรื่องการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับชาวพุทธ โดยเฉพาะในเมืองไทย คงจะมีการถกกันมาแล้วไม่น้อย เอาเฉพาะที่ผมเองซึ่งเพิ่งเริ่มศึกษาและปฏิบัติมาได้ไม่นานนักก็เคยได้อ่านได้เห็นมาบ้างพอสมควร โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าสัจจะในเรื่องนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ความเห็นและความเชื่อของคนในสังคม โดยเฉพาะสังคมชาวพุทธในประเทศไทย ยังคงมีความแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละหมู่คณะ ในที่นี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะมาชักชวนหรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านมากินมังสวิรัติกันทั้งหมด เพียงแต่ต้องการนำเสนอข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจแสวงหาความจริงได้มีโอกาสรับรู้และนำไปพิจารณาด้วยตนเองบ้างเท่านั้น

        ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในบทความนี้มาจากหนังสือที่ชื่อว่า "การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ" เขียนโดย ดร. ใจเพชร กล้าจน หรือ หมอเขียว โดยผมจะยกเอามาเพียงบางส่วนบางตอนที่มีประเด็นน่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่อยู่ในความนึกคิดของผม ส่วนท่านที่สนใจเนื้อหาเต็ม ๆ อยากได้หนังสือเล่มนี้ สามารถหาซื้อได้ที่สวนป่านาบุญตามภาคต่าง ๆ ในเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือติดต่อผมทางบล็อกนี้หรือทางเฟสบุคก็ได้ ถ้าอยู่ในวิสัยที่จัดหาให้ได้ผมจะช่วยจัดส่งไปให้เองครับ


        ศีลข้อ ๑ ...หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

"จุลศีล ข้อ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า เป็นการไม่ฆ่าสัตว์ เพราะทำให้สัตว์นั้นไม่ถูกฆ่า เป็นการช่วยลดการฆ่าสัตว์ เป็นการวางวิธีการและอาวุธที่ทำให้สัตว์ได้รับโทษทุกข์ เป็นการสร้างความละอายต่อบาป เป็นการสร้างความเอ็นดูเมตตาปรารถนาดีต่อสัตว์ เป็นการลงมือกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่น

ส่วนการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า เป็นการฆ่าสัตว์ เพราะทำให้สัตว์นั้นถูกฆ่า เป็นการเพิ่มการฆ่าสัตว์ เป็นการทำให้เกิดวิธีการและอาวุธที่ทำให้สัตว์ได้รับโทษทุกข์ เป็นการสร้างความไม่ละอายต่อบาป เป็นการสร้างความอำมหิต โหดร้ายปรารถนาร้ายต่อสัตว์ เป็นการลงมือกระทำให้เกิดโทษต่อตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่น

ประเด็นเรื่องการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ การไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า จึงเป็นการปฏิบัติศีลที่สมบูรณ์ ส่วนการไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง แต่ยังกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า จึงเป็นการปฏิบัติศีลที่ไม่สมบูรณ์"

        จุลศีลข้อ ๑ นี้เป็นศีลข้อแรกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ มีข้อความเต็ม ๆ ในพระไตรปิฎกตามที่ได้อ้างมาข้างต้น ซึ่งไม่ได้มีสั้น ๆ แค่ว่าห้ามฆ่าสัตว์เท่านั้น แต่ยังต้องละต้องวางเครื่องมือหรือเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้สัตว์ตายด้วย รวมทั้งต้องเห็นแก่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายด้วย ...มันจึงน่าคิดอยู่นะครับว่าพระสมณโคดมทรงมีเจตนารมณ์อย่างไรในการบัญญัติศีลข้อนี้ขึ้นมา และการกินกับการไม่กินเนื้อสัตว์ อย่างไหนจะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายมากกว่ากัน

       การค้าขายที่ผิด

"พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ ๑๗๗ มิจฉาวณิชชา ๕ คือการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่พึงกระทำ "...ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ...

จะเห็นได้ว่า เมื่อมรรคมีองค์ ๘ ทางเอกสายเดียวที่พาพ้นทุกข์นั้น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เลี้ยงสัตว์ ไม่ขายสัตว์เป็น ไม่ขายเนื้อสัตว์ และไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งปวง ดังนั้น อาหารปกติของชาวพุทธจึงคือพืชไม่ใช่เนื้อสัตว์"

        นอกจากจะห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้ายังให้ละเว้นการขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ด้วย หากว่าคนส่วนใหญ่มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้ากันจริง ๆ แล้ว ท่านว่าการค้าของผู้ที่ขายเนื้อสัตว์อยู่ควรจะเป็นอย่างไร และการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์น่าจะเกี่ยวข้องกับการอุดหนุนการค้าขายเนื้อสัตว์หรือไม่

        หยุดกินเนื้อสัตว์ ลดโรค

"วิถีชีวิตแต่เดิมก่อนมาเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ของชาวแพทย์วิถีธรรม ๓๐๐ คน ส่วนใหญ่รับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม มีความเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ และใช้วิธีการรักษาแผนต่าง ๆ เมื่อหยุดกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าหรือกินเนื้อสัตว์น้อยลง กินอาหารให้ถูกสมดุลร้อนเย็น และดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรมข้ออื่น ๆ ต่อเนื่องกัน ๓ ปีขึ้นไป พบว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม อาการเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ลดน้อยลงถึงขั้นที่ไม่ต้องใช้วิธีการรักษาแผนอื่นเลย มีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ที่ยังมีความเจ็บป่วยบางอย่างต้องใช้การรักษาแผนอื่น ๆ ร่วมเป็นบางคราว

ในขณะที่ประชากรไทยทั่วไป รวมทั้งประชากรในโลก ส่วนใหญ่ที่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าอยู่ เมื่ออายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรค โดยเฉพาะ ๕ โรคเด่นคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปัญหาหลอดเลือดสมองไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และมะเร็ง รวมทั้งเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น"

        ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้หยุดกินเนื้อสัตว์มาประมาณหนึ่งปีแล้ว และพยายามปฏิบัติตามหลักของแพทย์วิถีธรรมข้ออื่น ๆ อยู่ด้วย พบว่าตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น อาการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายต่าง ๆ ลดน้อยลง และไม่เคยต้องไปหาหมอหรือกินยาแผนปัจจุบันอีกเลย ถ้าท่านสงสัยว่าข้อมูลนี้จะเชื่อได้หรือไม่ ก็น่าจะลองพิสูจน์ด้วยตัวเองดูนะครับ

        คนกินเนื้อคนเป็นอาหาร

"ถ้ามีคนกินคนเป็นอาหาร แต่อ้างว่าตัวเองถือศีล จึงไม่ฆ่าคน แต่ถ้ามีใครเอาเนื้อคนมาขายหรือให้ฟรี ก็ซื้อหรือรับมาฟรี ๆ จากพฤติกรรมดังกล่าวของคนที่กินคน ๆ นั้น ได้เป็นแรงจูงใจให้คนที่อยากได้เงินจากคน ๆ นั้น หรือศรัทธาหรือสงสารคนที่กินคน ๆ นั้น จึงไปฆ่าคนมาขายหรือมาให้คนที่กินคน ๆ นั้น ดังนั้น คนที่กินคน ๆ นั้นย่อมมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ถูกนำมาเป็นอาหารนั้นถูกฆ่า ย่อมเข้ากับสภาพที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "...ผู้ใดปรารถนาความสุขเพื่อตนด้วยการเข้าไปตั้งความทุกข์ไว้ในผู้อื่น ผู้นั้นระคนแล้วด้วยความเกี่ยวข้องด้วยเวร ย่อมไม่พ้นไปจากเวร" (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑) นัยยะเดียวกันกับการที่ผู้ใดยังกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าอยู่ก็ย่อมเป็นต้นเหตุสำคัญให้สัตว์ถูกฆ่า"

        ลองคิดดูว่าถ้ามีคนที่กินเนื้อคนอาศัยอยู่ในตำบลของเรา แถมคน ๆ นั้นยังได้รับความนับถือจากคนอีกหลาย ๆ คนในตำบลเดียวกันด้วย แค่คิดก็รู้สึกสยดสยองมากแล้ว ...หากว่าเนื้อของญาติท่านถูกคน ๆ นั้นกิน เหตุเพราะญาติของท่านถูกฆ่าตาย ไม่ว่าผู้ที่ฆ่าญาติของท่านจะมีเจตนาเจาะจงเอาเนื้อนั้นไปให้คนกินหรือไม่ก็ตาม ท่านจะคิดจองเวรกับผู้ที่กินเนื้อญาติของท่านด้วยหรือไม่ แล้วพวกสัตว์อื่น ๆ ล่ะ ท่านคิดว่าพวกมันจะผูกเวรกับคนที่กินเนื้อพวกมันหรือญาติ ๆ ของพวกมันบ้างมั้ย

        ชักชวนผู้อื่นไม่ให้ฆ่าด้วย

"พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตน ข้อ ๑๔๕๙ "ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลง (ฆ่า) เรา ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลง (ฆ่า) คนอื่น ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้"

        ท่านคิดว่าการกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากการฆ่าหรือไม่ เป็นการสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากการฆ่าหรือไม่ คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่จะสามารถกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการไม่ฆ่า และชักชวนคนอื่น ๆ ไม่ให้ฆ่าได้สำเร็จหรือไม่ 

        ปวัตตมังสะและอุทิศมังสะ

"ปวัตตมังสะ ที่ถูกสภาวธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าทุกสูตร และเมื่อปฏิบัติถูกตรงตามธรรมแล้วเกิดอรรถ (ประโยชน์) ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ตรวจสอบอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ (ที.ปา. ๑๑/๑๐๘) ควรแปลว่า "เนื้อที่เป็นไปแล้ว, เนื้อที่ดำเนินไปตามปกติ เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือเดนสัตว์ทั่ว ๆ ไปซึ่งเกิดจากสัตว์ฆ่าสัตว์กินกันเองตามวิบากของเขาแล้วเหลือเดนทิ้ง, ไม่ใช่สัตว์ที่เป็นโรคตาย (จึงจะสอดคล้องกับจัตตาริสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสให้บริโภคอาหารที่ไม่มีโทษ), ไม่ใช่สัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า (การเจาะจงฆ่าสัตว์เป็นบาป)" ตรงกันข้ามกับอุทิศมังสะ (อุทิศ แปลว่า เจาะจง, มังสะ แปลว่า เนื้อ) อุทิศมังสะ จึงควรแปลว่า "เนื้อของสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า" ไม่ใช่แปลเพียงแค่ว่า "เนื้อของสัตว์ที่เกิดจากในขณะฆ่าสัตว์นั้น ผู้ฆ่าเจาะจงที่จะนำมาถวายพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น" เพราะทุกขั้นตอนของการเจาะจงฆ่าก็บาปแล้ว ไม่ว่าจะเจาะจงฆ่าเพื่อใครหรือไม่ก็ตาม ล้วนบาปทั้งนั้น)"

         ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะมึน ๆ สักหน่อย คำว่า "ปวัตตมังสะ" คืออันเดียวกันกับที่หมอเขียวเขียนไว้ในช่วงต้นว่า "เนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า" นั่นเอง อันนี้ผมขอสรุปความให้สั้น ๆ อีกทีนะครับว่า เนื้อของสัตว์ที่ตายเองหรือเป็นเดนสัตว์นั้นไม่มีบาป แต่เนื้อของสัตว์ที่ถูกคนฆ่า ไม่ว่าตอนที่เขาฆ่าจะตั้งใจนำมาให้ใครหรือไม่ก็ตามนั้นมีบาป

        เขตบุญนอกศาสนาพุทธ

"พระพุทธเจ้าระบุว่า หนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ คือ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธ การแสวงหาเขตบุญคือ แสวงหาความดีในการชำระกิเลสภายนอกศาสนาพุทธ คือ นอกศีล สมาธิ ปัญญา หนึ่งในสิ่งที่อยู่นอกพุทธ คือ เนื้อสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า เพราะผิดศีลข้อ ๑ ซึ่งศีลข้อ ๑ คือการไม่ฆ่าสัตว์นั้นเป็นมหาทาน บัณฑิต พึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด... กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าจึงเป็นสิ่งน่ารังเกียจและอยู่นอกพุทธ... และสิ่งที่อยู่นอกพุทธอีกอย่างหนึ่งคือ สัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ถูกขาย (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ ๑๗๗) ดังนั้น การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า เนื้อสัตว์ที่ถูกขาย จึงคือหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ"

        ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย

"พระพุทธเจ้าตรัสถึง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความเรียบง่าย เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย ต้องอยู่ในกรอบของศีล คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่มีโทษต่อตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น ต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น"

        ทำไมวัวควายไม่เป็นอรหันต์

"สัตว์ที่เป็นคนเท่านั้นเป็นอรหันต์ได้ แต่บางคน (ปริมาณเท่าฝุ่นปลายเล็บ) เป็นอรหันต์ได้ (รู้อริยสัจสี่และไตรสิกขา) แต่หนาคน (ปริมาณเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน) เป็นอรหันต์ไม่ได้ คนกินพืชเป็นอรหันต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติอริยสัจสี่และไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ตัดกิเลสกามและอัตตาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ได้ คนกินพืชจะเป็นอรหันต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ไม่ได้ ถ้าไม่รู้อริยสัจสี่และไตรสิกขา แต่เขาคนนั้นจะได้สิ่งดีมากกว่าที่เขากินเนื้อสัตว์"

        พระพุทธเจ้าเองก็ฉันเนื้อสัตว์อย่างนั้นหรือ?

"คนอินเดีย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าผู้มีพระมหาปัญญาธิคุณทรงทราบดีว่า ศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในอินเดียดูถูกและรังเกียจการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าย่อมไม่ฉันเนื้อสัตว์ เพราะการฉันเนื้อสัตว์ จะมีส่วนทำให้คนอีกส่วนหนึ่งเสื่อมศรัทธา ดูถูกหรือรังเกียจต่อศาสนาพุทธ ส่วนผู้ที่พระพุทธเจ้าอนุโลมให้กินเนื้อสัตว์ท่านก็กำหนดศีลวินัยไว้ ดังที่กล่าวรายละเอียดมาข้างต้น ซึ่งจะทำให้กินได้น้อย ได้ยาก และไม่เป็นเหตุแห่งการเบียดเบียน"

        ความจริงที่ท้าทายให้มาพิสูจน์

"ท่านที่ยังสงสัยว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปหรือไม่ การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญหรือไม่ ก็สามารถปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตนเองได้ คือ ทดลองกินเนื้อสัตว์ ๑ สัปดาห์ และหยุดกินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน ๑ สัปดาห์ ทำสลับไปมาเรื่อย ๆ ท่านจะสังเกตพบว่า สัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์ อาหารจะย่อยยากกว่า ไม่สบายตัวกว่า ส่วนสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน อาหารจะย่อยง่ายกว่า สบายตัวกว่า และสัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์มักจะมีเรื่องร้าย ๆ เข้ามาในชีวิตมากกว่าสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน ส่วนสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทนมักจะมีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตมากกว่าสัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์ เป็นการพิสูจน์ตามคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้ ความสั่งสมบุญ นำสุขมาให้" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๙)"


        อาจารย์หมอเขียวได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า "เมื่อท่านอ่านเนื้อความดังต่อไปนี้แล้ว ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่าน ผู้เขียนไม่มีเจตนาโต้เถียงเพื่อเอาชนะคะคานผู้ใด" และในช่วงต้นของหนังสือได้แสดงแนวทางในการศึกษาและปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า "...เมื่อท่านได้ศึกษาอย่างเข้าใจดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะต้องหยุดกินเนื้อสัตว์ทันที ท่านก็ปฏิบัติลดละเลิกการกินเนื้อสัตว์ตามฐานจิตตามบุญบารมีของท่าน..." ดังนั้น ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบทความนี้ก็ย่อมได้ ผมเพียงแต่นำเสนอในสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาและกำลังพิสูจน์อยู่เท่านั้น หากท่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของท่าน และผมก็ยังยินดีรับฟังความเห็นของท่านด้วยเช่นกัน

        พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นอาจารย์ของเรา เพราะถ้าเราเชื่อเพียงเพราะว่าท่านเป็นอาจารย์ก็จะกลายเป็นความเชื่อตามอย่างผิวเผิน กลายเป็นความงมงาย ไม่หยั่งลึก ไม่มั่นคง เราจึงควรพิจารณา ตรวจสอบ และทำการพิสูจน์ด้วยตนเองเสียก่อน เมื่อได้พบความจริงด้วยตนเองแล้วก็จะเกิดความเชื่อที่ชัดเจนมั่นคงขึ้นเอง ยิ่งถ้าได้พากเพียรพิสูจน์ไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตนได้พิสูจน์มาแล้วยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ...การพิสูจน์ในโหมดนี้จะเป็นโหมดที่ต้องดำเนินไปอย่างยาวนาน อาจจะนานไปจนถึงชาติหน้าด้วยก็ได้ นานจนกว่าจะพิสูจน์พบว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงเสียแล้ว หรือไม่เช่นนั้น ก็จนกว่าจะพบว่ามันเป็นจริงจนไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์อีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...