ดูจากในหนังหรือสารคดีบางเรื่อง ฉันอดที่จะทึ่งในความมหัศจรรย์และความสวยงามของท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไม่ได้ ยิ่งเราตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของทะเลมากเท่าไร มนุษย์ก็ยิ่งทำลายล้างธรรมชาติทางทะเลอย่างโหดร้ายมากเท่านั้น วันนี้ฉันอยากจะชวนคุยเรื่องเหตุผล ๑๐ ข้อที่เราไม่ควรกินปลา ไม่ใช่เพียงเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเลเท่านั้น แต่เพื่อสุขภาพของเราเองด้วย
เหตุผลข้อที่ ๑ ขยะพลาสติกกำลังทำลายทะเล
วันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๖ เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มและกองทุนเอลเลน แม็คอาเธอร์ (Ellen MacArthur) ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันท้องทะเลทั่วทั้งโลกมีขยะพลาสติกมากกว่า ๑๖๕ ล้านตัน หากเรายังไม่มีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เมื่อถึงปี ๒๐๕๐ ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมีมากกว่าปริมาณปลาเสียอีก ในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่ทะเล ๘ ล้านตัน หรือเท่ากับว่าในทุก ๆ นาทีเราจะมีรถขนขยะเทขยะพลาสติกเต็ม ๆ คันรถลงสู่ทะเล ในบรรดาขยะพลาสติกเหล่านี้มีอยู่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ที่จะล่องลอยอยู่ตามผิวน้ำ เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์ทะเลอย่างใหญ่หลวง น้ำถูกปนเปื้อน คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม สัตว์ทะเลเสียชีวิตจำนวนมาก ระบบนิเวศน์ทางทะเลถูกทำลาย สัตว์ทะเลประมาณ ๗๐๐ ชนิดพันธุ์ตกอยู่ในภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ ขยะพลาสติกในทะเลที่อันตรายที่สุดคือตาข่ายดักปลาที่ถูกทิ้งแล้ว บางชิ้นมีความยาวหลายไมล์ ชาวประมงเรียกมันว่า "ข่ายปิศาจ" ซึ่งเมื่อถูกกระแสน้ำพัดพา ตาข่ายดักปลาเหล่านี้จะพัวพันเกาะกันเป็นผืนใหญ่ กลายเป็น "กับดักมรณะ" สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ในทุกปีข่ายปิศาจเหล่านี้จะรัดตัวสัตว์ในทะเลและทำให้พวกมันจมน้ำตายจำนวนปีละหลายพันตัว ทั้งแมวน้ำ สิงโตทะเล และโลมา
เหตุผลข้อที่ ๒ ปลาเป็นที่เก็บสะสมโลหะหนักและสารเคมีอันตรายจำนวนมาก
ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยน้ำนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียใต้ของสหรัฐอเมริการะบุว่า คนที่กินปลามีสาร DDT ในกระแสเลือดมากกว่าคนที่ไม่ค่อยกินปลาถึง ๕ เท่า สารปรอทจากของเสียอุตสาหกรรมจะแพร่ผ่านทางอากาศ น้ำ และห่วงโซ่อาหารเข้าไปสู่ตัวปลา ในตัวปลาชนิดต่าง ๆ มีสารปรอทแฝงอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงการได้รับสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักที่เป็นอันตราย ก็อย่าไปกินพวกมันเลยดีกว่า เนื้อและไขมันปลาล้วนมีสารเคมีตกค้างในปริมาณสูง ถึงขั้นที่ว่าสูงยิ่งกว่าสารเคมีที่พบในแหล่งน้ำที่มันอาศัยอยู่ถึงหลายพันเท่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของสถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า ๘๔ เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ทะเลทั่วโลกมีปริมาณสารปรอทในตัวมากเกินกว่าค่ามาตรฐาน จึงได้มีการเตือนให้สตรีมีครรภ์และเด็กเล็กรับประทานสัตว์ทะเลได้เพียงบางชนิดที่มีสารปรอทอยู่ในปริมาณต่ำเท่านั้น
เหตุผลข้อที่ ๓ กินปลาแล้วจะฉลาดจริงหรือ
ท้องทะเลของเราเต็มไปด้วยสารพิษ polychlorinated biphenyls (PCBs) และส่วนใหญ่สะสมรวมกันอยู่ในตัวปลา แม้ว่าสารเคมีอันตรายที่มนุษย์ประกอบขึ้นนี้จะถูกห้ามใช้ในหลายประเทศแล้วก็ตาม สาร PCBs เป็นสารก่อมะเร็งและมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาท รวมทั้งความจำระยะสั้นและการเรียนรู้ ตลอดจนระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ด้วย ดังนั้น ถ้าอยากจะฉลาดก็อย่ากินปลาจะดีกว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของปลาค็อดในแม่น้ำฮัดสันของเมืองนิวยอร์ค คือพวกมันได้ปรับเปลี่ยนยีนส์ตัวเองเพื่อต่อต้านสาร PCBs และ Dioxins เพื่อให้ตัวมันเองสามารถอยู่รอดได้ในแหล่งน้ำที่มีสารพิษเหล่านี้อยู่ แต่นี่ก็เป็นสาเหตุให้สารพิษร้ายแรงสองชนิดนี้แพร่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร นักวิจัยพบว่า ๙๔ เปอร์เซ็นต์ของปลาค็อดที่มีอายุ ๒ ปีในแม่น้ำนี้จะป่วยเป็นโรคเนื้องอกในตับ ศาสตราจารย์ไอแซค วิลคิน แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์คระบุว่า "พวกมันเป็นอาหารตามธรรมชาติของปลากะพง เราก็กินปลากะพงแล้วได้รับสารพิษจากปลาค็อดที่กลายพันธุ์เหล่านี้เข้าไปในร่างกายและอาจเป็นพิษถึงตายได้"
เหตุผลข้อที่ ๔ มีปลาให้กินอยู่เยอะแยะ กินยังไงก็ไม่หมดหรอก? ความจริงปลาหลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว
มีรายงานขององค์การสัตว์ป่าโลก (WWF) ชี้ว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ถูกจับได้ทั่วโลกถูกทิ้งไปเพราะไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ เท่ากับว่าในแต่ละปีมีปลา ๓๘ ล้านตันต้องถูกทิ้งให้ตายไปเปล่า ๆ การจับปลาที่มากเกินไปของมนุษย์มีผลในการทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมากจนไม่อาจฟื้นคืนได้แล้ว การประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทำให้ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของปลากินเนื้อขนาดใหญ่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และการประมงเชิงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น การใช้อวนลากที่ระดับพื้นทะเล วิธีการนี้จับปลาได้ครั้งละนับพันนับหมื่นตัวและทำให้ปลาตายอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำความเสียหายต่อพื้นทะเลชนิดที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. ๒๐๔๘ ปลาชนิดต่าง ๆ จะสูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น สักวันหนึ่งมนุษย์จะต้องชดใช้อย่างเจ็บปวดจากความละโมบของตนเอง บางครั้งแม้แต่เต่าทะเลและโลมาที่เป็นสัตว์ใหญ่ในทะเลก็ถูกจับด้วยวิธีการอันทารุณแบบนี้ด้วย
เหตุผลข้อที่ ๕ Ocean Dead Zone ที่น่ากลัว
เขตที่เรียกว่า Ocean Dead Zone กำลังขยายตัวไปทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ การตายทีละมาก ๆ ของสัตว์ทะเลเช่นโลมาคือสัญญาณเตือนสำหรับมนุษยชาติ ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การเลี้ยงปลาในพื้นที่ขนาดใหญ่ก่อให้เกิดมลพิษในทะเลมากยิ่งกว่าส่วนที่มนุษย์ทิ้งขยะด้วยมือตัวเองเสียอีก ทั้งยาปฏิชีวนะ สารเคมี วัสดุกั้นขอบเขต เศษอาหารที่เหลือทิ้ง ฯลฯ มลพิษเหล่านี้ถูกมหาสมุทรพัดพากระจายไปทั่วโลก ธาตุอาหารที่ปนเปื้อนมลพิษนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยา fertilization และเป็นผลให้สาหร่ายทะเลเจริญเติบโตอย่างฉับพลัน การเติบโตของสาหร่ายที่มากเกินไปจะทำให้ออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง และทำให้เกิดกาซแอมโมเนียและมีเทนเพิ่มขึ้น สภาวะแบบนี้จะเป็นพิษภัยต่อสัตว์ในทะเลอย่างมาก จนกลายพื้นที่กว้างใหญ่ที่เรียกว่าเขตมรณะในมหาสมุทร (Ocean Dead Zone)
เหตุผลข้อที่ ๖ การสังหารหมู่อย่างไร้ศีลธรรม
ในภาพยนตร์เรื่อง "The Mermaid" (ของโจวซิงฉือ) ตอนที่เติ้งเชาเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตพบว่าโซนาร์เป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตสัตว์ในทะเล ในจอคอมพิวเตอร์ของเขาจะเป็นภาพสั่น ๆ ของเลือดที่นองเต็มไปหมด อันที่จริงภาพนั้นมาจากหนังสารคดีที่ได้รางวัลออสการ์เรื่อง "The Cove" การฆ่าล้างบางมนุษย์เงือกในหนังเรื่อง The Mermaid ก็สะท้อนให้เราคิดถึงการนองเลือดในการล่าโลมาขนานใหญ่ที่ Taiji ในญี่ปุ่นเช่นกัน น้ำทะเลในที่เห็นจอถูกย้อมด้วยสีแดงของเลือดเต็มไปหมด ฝูงฉลาม วาฬ และโลมา (แม้ว่าวาฬและโลมาจะไม่ใช่ปลา แต่ชะตากรรมของมันก็น่าสังเวชเหมือนกัน) ถูกต้อนเข้าไปรวมกันในชายหาดที่เป็นน้ำตื้น แล้วถูกมนุษย์ฆ่าฟันด้วยมีด มีโลมาตัวที่อายุน้อยบางตัวรอดตายมาได้ แต่ก็ถูกขายให้แก่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อไปฝึกและทำการแสดงให้มนุษย์ดู ส่วนโลมาที่ถูกฆ่าตายในที่นั้นจะถูกย้อมแมวขายว่าเป็นเนื้อวาฬ โดยวางขายอยู่บนชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น... ฟันของมนุษย์บางครั้งก็แหลมคมและเยียบเย็นยิ่งกว่าใบมีดเสียอีก
เหตุผลข้อที่ ๗ การเลี้ยงสัตว์น้ำไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
ถ้ากินปลาในทะเลไม่ได้ แล้วปลาเลี้ยงในฟาร์มล่ะ? ปลาเลี้ยงจะอยู่ในฟาร์มเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่นเกินไป สถานที่เลี้ยงไม่สะอาด เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้ปลาตายมาก ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเอายาปฏิชีวนะให้ปลากิน ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ในรายงานสภาวะเศรษฐกิจของจีน ได้อ้างคำพูดของเจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลาคนหนึ่งที่เมืองเยียนไถ (烟台) ว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่เลี้ยงในฟาร์มมียาปฏิชีวนะ และมีการให้ยาคุมกำเนิดสัปดาห์ละสองครั้ง ปลิงทะเลต้องแช่ฟอร์มาลิน คนในท้องถิ่นจะไม่ยอมกินมันเลย ความจริงปลาที่มีการเลี้ยงในฟาร์มทั่วโลกยังมีปริมาณมากกว่าวัวเสียอีก พวกมันถูกเลี้ยงในสภาพที่ทุกข์ทรมานจากโรคต่าง ๆ การเบียดเสียดในพื้นที่แคบ ๆ ความพิการและพฤติกรรมรุนแรงอื่น ๆ จนทำให้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่เลี้ยงในฟาร์มจะตายตั้งแต่ยังไม่ทันถูกฆ่าด้วยซ้ำ
เหตุผลข้อที่ ๘ แม้พวกปลาจะดูเงียบ ๆ แต่มันก็มีความเจ็บปวดเหมือนกัน
บางคนอาจจะรู้สึกรังเกียจการกินหมาหรือแมว และไม่กล้าดูภาพการฆ่าไก่ หมู วัว หรือแกะ แต่กลับกินปลาได้อย่างไม่มีความรู้สึกรู้สาอะไร อันที่จริง เราควรจะรู้ว่าปลา (รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ ด้วย) ที่เราเห็นแม้ว่ามันจะดูเงียบสงบดี แต่สัตว์ทุกชนิดก็กลัวความเจ็บปวดเหมือนมนุษย์ กลัวการถูกฆ่า นักวิทยาศาสตร์พบว่า พวกปลาก็มีสมองและระบบประสาทรับรู้ความเจ็บปวดได้ ก็แปลว่าพวกมันมีความรู้สึกเจ็บปวดได้เหมือนมนุษย์นั่นเอง
เหตุผลข้อที่ ๙ ถ้าไม่กินปลาแล้วจะให้กินอะไรล่ะ? เรามีทางเลือกสำหรับสุขภาพที่ดีกว่า
นิยามอย่างใหม่ของปลาคือ สารประกอบของโปรตีนและไขมัน ปรุงด้วยสารเคมีอันตรายปริมาณมาก นอกจากนี้ พยาธิที่พบในตัวปลาจำนวนมากเป็นพวกมีตัวโปร่งแสง จึงถูกตรวจพบได้ยาก การป้องกันปลาให้ห่างจากโต๊ะอาหารของเราไม่เพียงเป็นเรื่องดีสำหรับพวกมันเท่านั้น ยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราเองด้วย ปลาไม่ได้สร้างกรดไขมันโอเมก้า ๓ ด้วยตัวมันเอง พวกมันได้โอเมก้า ๓ มาจากสาหร่ายทะเล ยังมีพืชอีกหลายชนิดก็มีโอเมก้า ๓ อยู่มากเช่นกัน เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย งา วอลนัท อัลมอนด์ สาหร่ายทะเล อะโวคาโด เป็นต้น นอกจากนี้ เราอาจจะยังไม่รู้ว่าถั่วดำ ถั่วแดงหลวง ดอกกะหล่ำสีขาว กะหล่ำจิ๋ว (spore cabbage) ก็มีโอเมก้า ๓ มากเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงสามารถกินพืชผักสุขภาพเหล่านี้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ เรายังสามารถทดลองใช้หญ้าทะเลกับอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบกันเพื่อปรุงเป็นอาหารที่มีรสชาติเหมือนปลาได้ด้วย เช่น ใช้ถั่วลูกไก่ทำสลัดได้รสชาติเหมือนสลัดทูน่ามาก ๆ เป็นต้น
เหตุผลข้อที่ ๑๐ เพื่อที่จะมองตาพวกมันได้อย่างสงบ
ฟรานซ์ คาฟคา เป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งในศตวรรษที่ ๒๐ เขาเป็นนักมังสวิรัติและเคยเข้าร่วมขบวนการต่อต้านการศึกษากายวิภาคด้วยการผ่าแยกร่างของสัตว์อย่างแข็งขัน นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้สนับสนุนการกินอาหารธรรมชาติแบบ raw food ในยุคต้น ๆ ด้วย หลังจากที่คาฟคาตัดสินใจกินมังสวิรัติตลอดชีวิต เขามองดูปลาในตู้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่กรุงเบอร์ลินและรำพึงรำพันกับตัวเองว่า "ในที่สุดฉันก็สามารถมองดูพวกแกด้วยใจอันสงบเสียที เพราะฉันจะไม่กินพวกแกอีกแล้ว"
ที่มา http://ss.zgfj.cn/JSCS/2016-07-09/16859.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น