30 พ.ย. 2560

มังสวิรัติกับการฆ่า และมนุษย์กับสัตว์จะอยู่ร่วมอย่างเห็นใจกันได้อย่างไร



        บริสุทธิ์เพราะไม่ได้เห็น?


จาง จี้ ชง
        จากงานกิจกรรม "Green Monday" ทำให้ผมได้รู้ว่าเหตุผลที่ จาง จี้ ชง ( 张继聪 - ศิลปินนักร้องและนักแสดงชาวฮ่องกง) กินมังสวิรัตินั้นไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา แต่เป็นความรู้สึกว่ากินไม่ลงจริง ๆ ในอดีตเขาก็เคยเป็นนักกินเนื้อมาก่อน โดยเฉพาะเนื้อวัว และมักจะมองพวกที่กินมังสวิรัติว่าเอาแต่กินพืชผักก็เพราะยังไม่เคยลิ้มรสเนื้อวัวที่อร่อยจริง ๆ จนกระทั่งเขาบังเอิญได้ดูหนังสารคดีเรื่องหนึ่งในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เขาจึงค้นหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความจริงมากขึ้น ๆ จนถึงขั้นที่รู้สึกว่ารับไม่ไหวอีกแล้ว จึงตัดสินใจค่อย ๆ ลดละเลิกเนื้อสัตว์ทุกชนิด เมื่อได้ฟังเรื่องที่เขาเล่าด้วยตัวเองแล้ว ผมรู้สึกประทับใจมาก และรู้สึกนับถือเขาอย่างยิ่ง เพราะมีคนไม่น้อยที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องอันน่าสยดสยองของกระบวนการในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์มาก่อน แต่คนส่วนใหญ่มักมองแค่ว่ามันเป็นความจริงที่เขาไม่สะดวกใจที่จะรับรู้ หรือรู้ไว้บ้างนิดหน่อยก็พอแล้ว ไม่ได้อยากจะรู้อะไรลึก ๆ ไปกว่านั้นอีก บางคนก็ได้แต่เบือนหน้าหนีและกลบฝังมันไว้ในสมองเบื้องลึกที่ยากจะขุดขึ้นมาคิดถึงอีก แต่ จาง จี้ ชง นั้นสามารถกระตุกตัวเองให้เกิดมีสำนึกขึ้นมา ใช้สติปัญญาทำความเข้าใจความจริงแต่ละชั้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังม่านมืดสีดำ มีความตั้งใจมากพอจะที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะคิดทำกันได้โดยง่าย ๆ 

        เพื่อน ๆ ที่เป็นนักมังสวิรัติหลายคนมักจะชอบเผยแพร่ภาพสัตว์ต่าง ๆ ถูกฆ่าอย่างทรมาน โดยหวังว่าภาพเหล่านั้นจะส่งผลให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่เกิดความสลดใจ ราวกับว่าถ้าใครได้เห็นภาพวัวน้ำตาตก ไก่ถูกเชือดคอ แล้วยังสามารถใจแข็งพอที่จะกินเนื้อต่อไปได้ ก็คงเป็นคนเลวทรามต่ำช้าเกินมนุษย์มนาไปแล้ว แต่พอทำแบบนี้ไปนานเข้า นานเข้า ก็จะมีคนจำนวนมากที่เริ่มรับไม่ไหว รู้สึกว่าการกระทำแบบนั้นมันเหมือนการคุกคามข่มขู่ ภาพความจริงที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกไม่สบายใจแบบนี้ ไม่ควรนำมาเผยแพร่ให้คนได้เห็นกันเลย ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังสามารถดำเนินชีวิตกันต่อไปได้แบบวิถีเดิม ๆ มันเหมือนกับทหารอเมริกันที่เป็นผู้บังคับเครื่องบินรบไร้คนขับ เขานั่งอยู่ในห้องลับ ๆ ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ อยู่ห่างจากสมรภูมิรบนับพันไมล์ ข้างตัวมีกาแฟอยู่ถ้วยนึง ด้านหน้ามีจอแสดงภาพ สำหรับเขาแล้ว การฆ่าก็คือการใช้นิ้วโป้งกดปุ่มในมือเท่านั้นเอง สงครามได้ถูกทำให้กลายเป็นเสมือนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง แค่เรากดปุ่มสีแดงไปเท่านั้น บนจอภาพก็จะมีแสงวาบสว่างขึ้นกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่มีเลือดแม้สักหยดจะกระเซ็นมาถูกตัวเราเลย และไม่ได้ยินเสียงกรีดร้องคร่ำครวญใด ๆ ตลอดจนเสียงร่ำไห้โหยหวนที่ตามมา เมื่อเสร็จภาระกิจแล้ว เราแทบไม่จำเป็นต้องล้างมือด้วยซ้ำ สามารถกลับไปกินดินเนอร์ที่บ้านต่อและนั่งสอนการบ้านลูกภายใต้แสงไฟอันอบอุ่นของบ้านได้อย่างสงบสุข

        ยุคสมัยของเรานี้ เป็นยุคของการฆ่าได้อย่างสะอาดหมดจด และเป็นยุคที่มนุษย์แบ่งแยกสัตว์ออกไปห่างไกลจากตัวเองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เด็กส่วนใหญ่ที่เคยเห็นวัวด้วยตาตัวเองจริง ๆ ก็ได้เห็นแค่เนื้อวัวสีแดง ๆ ในตลาดเท่านั้น แม้แต่วัวเป็น ๆ ที่กำลังกินหญ้าหรือกินอาหารสัตว์ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นกันแล้ว ยิ่งไม่มีวันได้เห็นสภาพในโรงฆ่าวัวเลย นอกจากนี้ ยุคสมัยที่ยิ่งดูเหมือนศิวิไลซ์มากขึ้น ระยะห่างระหว่างคนกับสัตว์นี้ก็จะยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ โรงฆ่าสัตว์ก็ยิ่งจะกลายเป็นสถานที่อันเป็นนามธรรมมากขึ้นทุกที เมื่อสิบกว่าปีก่อน เรายังได้เห็นขบวนโบกี้รถไฟที่บรรทุกสุกรเนื้อแล่นผ่านสถานีไป ยังได้กลิ่นของพวกมัน (พร้อมกับเอามือปิดจมูกแล้วบ่นว่า "เหม็น") กระทั่งได้ยินเสียงร้องฟึ่ดฟั่ดของพวกมัน แต่ในวันนี้ ด้วยความศิวิไลซ์ ฮ่องกงสามารถเอากระบวนการอันไม่น่าอภิรมย์นี้ไปซ่อนไว้นอกเมืองทางตอนเหนือเรียบร้อยแล้ว เป็นการปลดเปลื้องชาวเมืองจากภาระที่ต้องพบเห็นที่มาของเนื้อหมูด้วยตาตนเองออกไป เพราะอย่างนี้เอง ผมจึงพอจะนึกออกได้ว่าเหตุใดเด็ก ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ ของอเมริกาบางแห่ง จึงไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อไก่แช่แข็งในซุปเปอร์มาร์เก็ตกับไก่ที่เห็นในทีวี พวกเขาพูดติดตลกกันว่า เด็กน้อยไร้เดียงสาเหล่านั้นคิดว่าเนื้อไก่ก็เหมือน ๆ กับมันฝรั่ง เป็นผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสัตว์เลย ผมเชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่แค่มุขตลกเท่านั้น และบังเอิญว่ายุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์เป็นปริมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์เสียด้วย

        การฆ่าของนักมังสวิรัติ


เซอร์ พอล แมคคาร์ทนีย์
        พอล แมคคาร์ทนีย์ และ สเตลลา แมคคาร์ทนีย์ ลูกสาวของเขา เป็นคนดังที่ช่วยในการรณรงค์เพื่อสิทธิของสัตว์ และพยายามผลักดันเรื่องการกินมังสวิรัติอย่างเต็มที่ เพื่อน ๆ ที่เป็นชาวมังสวิรัติของผมหลาย ๆ คนชอบยกคำพูดประโยคหนึ่งของพอล แมคคาร์ทนีย์ มาพูดกันเสมอคือ "ถ้าผนังห้องของโรงฆ่าสัตว์ทำด้วยกระจกใสทั้งหมด ทุกคนก็คงจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติกันหมด" ความสำคัญของคำพูดนี้คือกลยุทธ์ที่เรามักเห็นอยู่บ่อย ๆ ในกลุ่มผู้รณรงค์เรื่องมังสวิรัติในปัจจุบัน คือพยายามทำให้คนได้เห็นกระบวนการในส่วนที่ไม่เคยได้เห็นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อที่เรากินกันอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด ทำให้คนได้รู้ว่าแท้จริงแล้วลูกวัวที่น่ารักกับชิ้นเนื้อลูกวัวที่อ่อนนุ่มในจานมีความเกี่ยวข้องกัน ทำให้ทุกคนที่กำลังแบ่งหนังกรอบ ๆ ของหมูหันกินกันบนโต๊ะอาหารได้นึกถึงลูกหมูตัวหนึ่งที่เลือดพุ่งเพราะถูกผ่าท้องควักเอาไส้และอวัยวะภายในทั้งหมดออก ถ้าหากว่าโรงฆ่าสัตว์ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถ้าหากว่าโรงฆ่าสัตว์เป็นอาคารที่โปร่งใสจริง ๆ ทุกคนสามารถมองเห็นการฆ่าที่เกิดขึ้นในนั้นได้ เห็นเลือดที่นองอยู่บนพื้น เห็นเศษขนติดอยู่ตามผนัง ทำให้คนต่างเกิดความเห็นอกเห็นใจสัตว์ขึ้นมาได้ เชื่อแน่ว่าเราต้องเปลี่ยนมากินมังสวิรัติกันอย่างแน่นอน

        แต่ผมก็มักจะสงสัยอยู่เสมอว่า วิธีการที่นำเอาภาพการฆ่าสัตว์กลับมาสู่สายตาของเราแบบนี้นั้น มันมีขีดจำกัดอยู่หรือไม่ การทำให้สะเทือนใจอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าใช้เหตุผลคิดให้ถี่ถ้วนแล้ว มันอาจนำเราไปชนกำแพงและทำให้เรื่องนี้ล้มเหลวก็ได้

ไช่ จู เอ๋อร์
        ไช่ จู เอ๋อร์ ( 蔡珠儿 ) นักเขียนชาวไต้หวันที่มาพำนักอยู่ที่ฮ่องกง ได้เขียนบทความเรื่อง "นักฆ่านางระบำ" ( 舞娘杀手 ) อยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของเธอที่ชื่อว่า "บันทึกการปลูก" ( 种地书 ) ซึ่งน่าจะหยิบยกมาให้อ่านกันยาว ๆ สักตอนหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ในการกำจัดหนอนในสวนผักที่บ้านของเธอเองบนเขาต้าอวี่

        "ถั่วลันเตานั้นถูกโจมตีก่อนเพื่อน ใบของยอดต้นถั่วถูกเจาะกินอยู่ก่อนนานแล้ว จนเมื่อฉันไปเห็นเข้า ใบที่เขียวสดหนาอย่างผ้าต่วนก็ปรุพรุนเป็นผ้ากอสบาง ๆ เสียแล้ว ฝักถั่วก็ม้วนหงิกและย่นยับ เห็นแล้วมันปวดใจ ฉันจึงตามหาผู้ร้ายในโรงเรือนเพาะชำ ที่แท้ก็คือเจ้าหนอนขนสีน้ำตาลลายพาดเหลืองนี่เอง ฉันลงมือบี้มัน บี้จนของเหลวสีเขียว ๆ ทะลักออกจากตัวมัน เมื่อก่อนเวลาล้างผักแล้วเจอหนอน ยังต้องใช้ที่คีบหนีบออก แต่ตอนนี้มันโมโหจนหน้ามืดแล้ว ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เจอตัวนึงก็บี้เลย เจอสองตัวก็บี้ทีเดียวทั้งคู่ ฆ่ามันอย่างไร้ความปราณี ฆ่าอยู่นานจนหมดเกลี้ยง วันรุ่งขึ้น เหมือนโดนผีหลอก พวกหนอนเหมือนจะฟื้นคืนชีพได้ ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะ ไต่ดุ๊กดิ๊กและเจาะรูบนต้นถั่ว ฉันก็บี้พวกมันอีกอย่างรุนแรง ฆ่าจนเมื่อยมือ แต่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็มาแทรก ผักกาดไต้หวันก็ถูกเจาะเหมือนกัน ใบผักถูกกินจนเป็นกลายตาข่ายเปื่อย ๆ บางต้นถูกกินจนเหลือแต่แกนลำต้น หนอนตัวเขียวมันดูอวบอ้วนมาก มันกินเอากินเอาอย่างสุขสำราญเบิกบานใจทีเดียว"

        นอกจากหนอนตัวเขียวแล้ว ไช่ จู เอ๋อร์ ยังต้องผจญกับแมลงหวี่ หนอนใยผัก และหนอนอีกชนิดหนึ่งที่ดูคล้ายขี้นก เพื่อที่จะกำจัดพวก "หนอนร้าย" ให้สิ้นซาก เธอตัดสินใจที่จะตรวจสอบโลกและชีวิตของพวกมันให้กระจ่างแจ้ง เรียนรู้พวกมันเพื่อกำจัดพวกมันอย่างเด็ดขาด เธอจึงได้ค้นพบว่า

ผีเสื้อหางติ่ง

        "ที่แท้หนอนขนลายเหลืองจะกลายเป็นผีเสื้อหนอนกะหล่ำเล็ก หนอนใยผักจะกลายเป็นมอธกะหล่ำเล็ก (small cabbage moth) หนอนตัวเขียวจะกลายเป็นผีเสื้อขาว ส่วนหนอนขี้นกก็เป็นตัวอ่อนน้อย ๆ ของผีเสื้อหางติ่ง หรือ swallowtail butterfly ซึ่งมันจะออกจากดักแด้กลายเป็นนางระบำสวมชุดพริ้วไหวสีแดงลายคาดดำ เป็นสิ่งมีชีวิตอันสวยงามที่พบเห็นได้ทั่วไปบนเกาะ ฉันยังเคยสอนเด็ก ๆ แถวบ้านให้รู้จักชนิดพันธุ์ของพวกมันด้วยสิ ยิ่งดูข้อมูลก็ยิ่งตกใจ ไม่นึกเลยว่าตัวเองจะกลายเป็นนักฆ่าผีเสื้อหางติ่งไปได้ มือที่เปื้อนเลือดสีเขียว ได้บี้นางระบำแห่งธรรมชาติตายไปเท่าไหร่แล้ว"

        เรื่องของ ไช่ จู เอ๋อร์ ทำให้ผมนึกถึงคุณลุงคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านพักของผมในสมัยก่อน แกทำสวนผักเล็ก ๆ บนพื้นที่ร้าง ๆ ในหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของทุกปี เป็นเวลาของพวกผีเสื้อจะบินว่อนกันอย่างร่าเริง แต่งแต้มสีสันอ่อนหวานท่ามกลางพุ่มพฤกษ์พงไม้ ดูสวยงามอย่างมาก แต่คุณลงคนนี้กลับไล่ตามพวกมันอย่างกับเด็ก ไม่ใช่เพื่อความสนุกหรอก แต่ตั้งใจจะฆ่าพวกมันให้ตายจริง ๆ เลย เหตุผลก็เพราะต้องการทำลายพวกมันอย่างถอนรากถอนโคน ไม่ให้มีโอกาสแม้แต่จะวางไข่สืบพันธุ์เลยทีเดียว

        เรื่องที่ผมลืมไม่ลงอีกเรื่องหนึ่งคือประสบการณ์ตอนที่ไปเยี่ยมชมสวนเกษตรสมัยใหม่แห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน การกำจัดหนอนแมลงทั่วไปในที่อื่น ๆ นั้นเทียบกับที่นั่นไม่ได้เลย บนพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกถั่ว แม้แต่มดก็ไม่มีสิทธิ์จะรอด เขาจะค้นหารังมดและทำลายให้สิ้นซาก อันนี้เป็นงานที่คนงานในไร่ต้องทำกันเป็นประจำกันเลยทีเดียว เวลาเช้าตรู่ของทุกวัน พวกเขาต้องรีบตื่นกันตั้งแต่ตะวันยังไม่ยอแสง เพื่อจะจับและฆ่าหอยทากที่มักจะคลานออกมาบนพื้นดินในเวลานี้ เป็นหอยทากเปลือกสีแดงสด มากันทีเป็นฝูง บางครั้งถึงขนาดคลานกันเกลื่อนเต็มท้องนา เป็นภาพที่น่าสยดสยองอย่างบอกไม่ถูกจริง ๆ

        ในช่วงเวลาที่ว่างจากงานในไร่ ผมได้ถามลูกเจ้าของไร่ว่าฆ่าไปเท่าไหร่แล้ว เขาทำท่านับ ๆ ดูแล้วตอบว่า "พื้นที่ปลูกผักไม่กี่สิบหมู่ (หน่วยวัดพื้นที่ของจีน) นี้ แต่ละเดือนต้องกำจัดหนอนแมลงประมาณหนึ่งตันได้ละมั้ง"

        ผู้เสียสละ


        เนื่องจากการเพาะปลูกนั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ตัวเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น นักมังสวิรัติเองก็ไม่อาจจะหลบเลี่ยงความรู้สึกผิดจากการฆ่าได้เช่นกัน และถ้าเราเลียนแบบวิธีคิดของพอล แมคคาร์ทนีย์เรื่องโรงฆ่าสัตว์ที่โปร่งใส โดยการสร้างแปลงผักไว้กลางเมือง แล้วสร้างห้องที่โปร่งใสเล็ก ๆ ไว้ห้องหนึ่งสำหรับแสดงซากศพของหอยทากและหนอนขนที่ถูกกำจัดในแต่ละวัน ให้ทุกคนได้เห็นว่าการกินผักนั้นแลกมาได้ด้วยอะไร นี่จะทำให้เราไม่กล้าแม้แต่จะกินพืชผักด้วยหรือเปล่านะ เขียนมาถึงตรงนี้ ผมรู้ดีว่าต้องมีคนคิดว่าผมกำลังจะประณามพวกนักมังสวิรัติว่าเป็นนักบุญจอมปลอมแน่ ๆ "ดูสิ ปากก็บอกว่าไม่ฆ่าสัตว์ แล้วยังไง ก็ยังฆ่าชีวิตเล็ก ๆ ตายเป็นเบืออยู่ดีไม่ใช่หรือ?"

        เปล่าเลย เรื่องมันไม่ได้จบแบบแย่ ๆ ขนาดนั้นหรอก เพราะเรายังสามารถติดตามวิธีคิดของกลุ่มคนที่เป็นนักมังสวิรัติไปได้ลึกกว่านั้นอีก เราจะไต่สวนพวกเขาต่อไปว่า "แล้วพืชไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหรอกหรือ? การกินผักไม่เป็นการฆ่าชีวิตละหรือ?" คำถามนี้ดูเหมือนจะตอบยาก แต่จะตอบจริง ๆ ก็ไม่ได้ยากลำบากอย่างที่คิด เพราะนักมังสวิรัติที่มีฐานคิดอยู่บนทฤษฎีสัตววิทยานั้น ไม่ได้สนใจความเป็นชีวิตในความหมายอย่างกว้างเท่าไหร่ สิ่งที่เขาให้ความสนใจกันก็อาจจะเป็นว่า ชีวิตที่ถูกนำมากินนั้นมีความใกล้เคียงกับมนุษย์แค่ไหน (ยิ่งเหมือนมนุษย์เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเทียมเท่ามนุษย์เท่านั้น) หรืออาจจะสนใจเฉพาะสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่มีความสามารถในการมีความรู้สึกเจ็บปวดได้เท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรู้สึกเจ็บปวดนี้เอง เป็นเหตุผลพื้นฐานที่ทำให้นักมังสวิรัติจำนวนมากปฏิเสธการกินเนื้อสัตว์ ในสายตาของพวกเขานั้น สัตว์มีระบบประสาทมีสมอง มีความรู้สึกเจ็บปวดอย่างมากถ้าถูกเชือดด้วยมีดหรือต้มในน้ำเดือด มันเหมือนมนุษย์เรา เหตุใดเราจึงจะกลายเป็นฆาตกรฆ่าไก่ เป็ด วัว แพะ เพียงเพื่อสนองความอยากของปากท้องเท่านั้น เหตุใดเราจึงต้องเป็นเหตุให้พวกมันต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์ด้วยเล่า ในทางกลับกัน แม้พืชจะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน มียีนบางส่วนที่เหมือนกับมนุษย์ด้วย (ตัวอย่างเช่นกล้วย มียีน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหมือนกับมนุษย์) แต่พวกมันไม่มีความรู้สึกหวาดกลัว และไม่รู้สึกเจ็บปวดด้วย ต่างกับสัตว์อย่างชัดเจน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราสามารถกัดกินกล้วยได้เต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่เป็นเพราะว่ามันมีศักดิ์ศรีเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของความเป็นมนุษย์ แต่เป็นเพราะว่าเมื่อเราตัดกล้วยลงมาจากต้น มันจะไม่เจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางคนที่เชื่อในทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างหลุดโลกที่บอกว่า พืชก็มีความรู้สึกได้เหมือนกับสัตว์ ไม่เพียงแต่รู้จักความเจ็บปวดเท่านั้น ยังอาจจะชอบฟังเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองไพเราะด้วย มีหนังสือที่เคยขายดีเล่มหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตอันลึกลับของพืช" เป็นที่รวมของแนวคิดแบบนี้จำนวนมาก ทั้งเล่มเต็มไปด้วยการสาธยายต่าง ๆ นานา ตลอดจนผลการทดลองที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เป้าหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตพืชมีความลึกลับซับซ้อนมากมาย จนแทบจะเรียกว่ามีจิตวิญญาณเลยทีเดียว

        ท่านนักมังสวิรัติที่ไม่อยากให้พวกพืชต้องได้รับทุกข์ทรมานโปรดสบายใจได้ แนวคิดพวกนั้นไม่มีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์ได้ เพราะมันสร้างความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงต่อความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของพืชกับความรู้สึกของสัตว์ แล้วนำมาพูดปะปนกันมั่วไปหมด จริงอยู่ พืชสามารถรับรู้ทิศทางของแสงได้ สามารถแยกแยะกลิ่นของพืชหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ กระทั่งมีความรับรู้ทางการสัมผัสบางลักษณะได้ (ต้นกาบหอยแครงเป็นตัวอย่างคลาสสิคในการอธิบายถึงการรับรู้สัมผัสของพืช) แต่ความสามารถในการรับรู้เหล่านี้ของพืชแตกต่างจากสัตว์อย่างมากก็ตรงที่การมีหรือไม่มีระบบประสาท พูดได้ว่าแม้พืชจะมีกลไกรับรู้ที่เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน เช่นต้นถั่วเมื่อสัมผัสถูกไม้รั้วก็จะเลื้อยพันรอบเป็นเถาวัลย์โดยอัตโนมัติ แต่มันไม่มีระบบประสาทที่จะส่งสัญญาณนี้ไปที่สมอง และมันก็ไม่มีสมองด้วย ดังนั้น จะบอกว่าพืชมีความรู้สึกเจ็บปวดได้อย่างไร ความเจ็บปวดก็ดี ความสบายก็ดี เป็นความรู้สึกที่มีได้เฉพาะในสัตว์เท่านั้น

ปีทาโกรัส
        แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นสาวกผู้เคร่งในศาสนาหรือจารีตประเพณี และไม่ได้มีวิธีคิดอะไรเป็นพิเศษต่อชีวิตของพืช วิทยาศาสตร์ก็ไม่มีผลอะไรกับคุณมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ปีทาโกรัส (Pythagoras) นักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นปัญญาชนผู้ลึกลับคนหนึ่งในยุคกรีกโบราณ คุณรู้ไหมว่าเขาตายอย่างไร ...ในเย็นวันนั้น คู่อริของเขาพาอันธพาลมากลุ่มใหญ่มายังแหล่งพักอาศัยของเหล่าลูกศิษย์ของปีทาโกรัส (คู่อริคนนี้เป็นลูกของคหบดีผู้มั่งคั่ง เคยมาขอเป็นลูกศิษย์ของสำนักปีทาโกรัส แต่ถูกปฏิเสธ จึงผูกใจเป็นความแค้น) พวกเขาวางเพลิงเผาบ้านก่อน จนผู้คนวิ่งหนีออกทางประตู แล้วพวกเขาก็ใช้มีดและดาบดักฟันที่หน้าประตู บรรดาลูกศิษย์ก็ช่วยกันป้องกันการบุกโจมตีอย่างเต็มที่ เพื่อให้อาจารย์สามารถหลบหนีเอาชีวิตรอดไปให้ได้ แต่นึกไม่ถึงว่าปีทาโกรัสในวัยชราซึ่งอุตส่าห์หนีออกมาได้แล้ว กลับมาหยุดอยู่ที่หน้าไร่ถั่วแปลงหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจารย์ผู้ลึกลับซึ่งถือมังสวิรัติมาโดยตลอดผู้นี้มีความเชื่อว่าในเมล็ดถั่วนั้นมีวิญญาณของมนุษย์อยู่ มันเป็นวิญญาณช่วงหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ เขาจึงไม่เคยกินถั่ว แม้ในเวลาวิกฤติอย่างนี้ ก็ไม่ยอมที่จะเหยียบย่ำลงไปบนต้นถั่วเพื่อประโยชน์ของตนเอง เขาจึงหยุดยืนอยู่บนขอบแปลงถั่วนั้น หันหน้าไปทางแปลงถั่วที่กำลังอาบไปด้วยแสงทองของอาทิตย์อัสดงที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า มีคนเล่าว่าตอนนั้นดวงตาเขาเป็นประกายอ่อนโยนและเต็มเปี่ยมด้วยรักและเมตตา เพราะเขารู้ดีว่านี่จะเป็นภาพสุดท้ายที่เขาเห็นในชีวิตนี้ จากนั้นก็มีมีดเล่มหนึ่งฟาดฟันมาจากด้านหลังผ่านลำคอของเขา เลือดสีแดงสดพุ่งกระจายไปบนแปลงต้นถั่วในยามพลบค่ำของวันนั้น

        อหิงสาของคนอินเดีย


        ในโลกนี้คงไม่มีชาติไหนทำอาหารมังสวิรัติได้หลากหลายและมีรสชาติดีเท่าคนอินเดียอีกแล้ว ถ้าท่านไม่ชอบอาหารเจของฮ่องกงที่มีรสกลาง ๆ อย่างพระฉัน หรือกินอาหารเจแบบกวางตุ้งซ้ำ ๆ จนรู้สึกเบื่อ ร้านอาหารเจอินเดียมักจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีเสมอ ทำไมคนอินเดียถึงได้รู้จักการปรุงอาหารจากพืชผักได้ดีขนาดนี้นะ เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียว เพราะจำนวนประชากรอินเดียที่เป็นมังสวิรัตินั้นมีมากจริง ๆ ในประชากร ๑,๒๐๐ ล้านคน มีคนที่เป็นมังสวิรัติเกือบถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้มีประมาณ ๒๐๐ ล้านคนที่ไม่กินไข่ด้วย เพื่อตอบสนองตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ร้านแม็คโดนัลที่อินเดียจึงได้เปิดร้านแบบพิเศษที่เป็นร้านอาหารมังสวิรัติของแม็คโดนัลแห่งแรกของโลก เรียกว่าตาแม็คยังยอมก้มหัวให้ตลาดแห่งนี้ ส่วนพิซซ่าฮัทนั้นก็แน่นอน พวกเขาสนองความต้องการของตลาดโดยการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในร้านทุกร้านในอินเดียให้เป็นอาหารมังสวิรัติไปแล้วมากกว่าครึ่ง 

        นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่อด้วยว่าอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิมังสวิรัติ มีประวัติความเป็นมาอย่างน้อยสามพันปี ตัวอย่างของปีทาโกรัสที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าการถือมังสวิรัติของเขาได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย (จริง ๆ แล้วการสังสรรค์กันทางวัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับกรีกนั้นมีความเฟื่องฟูและเก่าแก่ยิ่งกว่าที่คนทั่วไปจะนึกถึง อเล็กซานเดอร์มหาราชเคยนำศิลปะกรีกไปเผยแพร่ที่อินเดีย ระยะเวลาที่ความรู้ทางปรัชญาและคณิตศาสตร์จากอินเดียได้แพร่ขยายไปถึงกรีกนั้นอาจจะยาวนานกว่าที่เรารู้ก็ได้)

        ลองนึกดูสิ ถ้ามีวัฒนธรรมหนึ่งที่มีวิถีแห่งการกินอาหารมังสวิรัติมาอย่างต่อเนื่องถึงสามพันปี และตั้งอยู่ในบริเวณตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคาอันอุดมสมบูรณ์ แล้วยังมีประชากรสี่ถึงห้าร้อยล้านคนที่ยืนหยัดในการกินมังสวิรัติอย่างมั่นคง อาหารมังสวิรัติของพวกเขาจะไม่ดีได้อย่างไร แล้วจะทำออกมาอย่างขาดศิลปะความคิดสร้างสรรค์ได้หรือ?

        ผมสามารถหาเหตุผลมาอธิบายเส้นทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นไม่เหมือนใครของอินเดียได้มากมายทีเดียว ข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ ความกดดันด้านจำนวนประชากร กระทั่งโครงสร้างทางการเมือง ล้วนเป็นเงื่อนไขที่กำหนดว่าสังคมหนึ่ง ๆ จะมีการกินเนื้อมากน้อยเท่าไหร่ แต่เมื่อนำมาเทียบกับวิธีคิดของคนแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้แทบไม่มีความหมายอะไรนัก ตามความรับรู้ของชาวจีนอย่างเรา ๆ นั้น ชนชั้นที่มีสถานะสูงที่สุด มีอำนาจมากที่สุดในสังคม คือผู้ที่กินเนื้อสัตว์มากที่สุด ดังนั้น "ผู้ที่กินเนื้อสัตว์" ในจีนยุคโบราณแทบจะเป็นความหมายเดียวกันกับผู้ปกครองเลยทีเดียว แล้วคุณดูพวกพราหมณ์ในอินเดียสิ อยู่ในวรรณะสูงสุดของสังคม กลับถือเอามังสวิรัติเป็นความสูงส่ง และมอบการกินเนื้อสัตว์ให้เป็น "สวัสดิการ" แก่วรรณะที่ต่ำกว่า ความแตกต่างนี้เกิดจากวิธีคิดหรือทิฏฐินั่นเอง และวิธีคิดที่สำคัญที่สุดที่ครอบงำการเลือกกินอาหารของชาวอินเดียไม่มีแนวคิดไหนมีอิทธิพลมากเท่าแนวคิด "อหิงสา" (Ahimsa แปลว่า ไม่ฆ่าชีวิต ไม่ทำร้าย หรือไม่รุนแรง)

        คำว่า "อหิงสา" อาจหมายถึงการไม่ทำร้ายสรรพสัตว์ ด้วยอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททำให้สำนักปรัชญาและศาสนาความเชื่อต่าง ๆ ในอินเดียรับเอาทฤษฎีเกี่ยวกับวัฏสงสารมาด้วย พวกเขาล้วนเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ตายแล้วดับสูญสิ้นไป มันจะกลับมาเกิดใหม่ในอีกชาติหนึ่ง เป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง อีกรูปลักษณ์หนึ่งบนโลกใบนี้ ดังนั้น ถ้าคุณทำร้ายชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ก็เหมือนกับได้ทำร้ายคน ๆ หนึ่ง และด้วยเหตุแห่งกรรมนี้ ไม่เพียงแต่มีผลต่อการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น ยังมีผลในความเกี่ยวเนื่องอันซับซ้อนระหว่างชีวิตแต่ละชีวิตด้วย คล้าย ๆ กับความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน การทำลายโอกาสในการมีชีวิตรอดของชีวิตสัตว์อื่น ๆ มากจนเกินไป จะส่งผลให้ไม่ช้าก็เร็วภัยพิบัติจะตกมาถึงมนุษยชาติเป็นแน่

        พูดง่าย ๆ ว่า "อหิงสา" เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่งในการพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำร้ายชีวิตวิญญาณของผู้ใด คือการหลีกเลี่ยงจากวิบากร้าย และยังเป็นแนวทางพื้นฐานในการหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏอีกด้วย ดังนั้นการกินมังสวิรัติจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เป็นหน้าที่อันสมควรกระทำของผู้ที่ฝึกฝนทางจิตวิญญาณและผู้นอบน้อมศรัทธาต่อศาสนา อย่างไรก็ดี ปัญหาเดิม ๆ ที่มักจะมาวนเวียนรอบ ๆ ตัวนักมังสวิรัติก็กลับมาอีกว่า แล้วพืชเป็น "สรรพชีวิต" ด้วยหรือไม่? ถ้าพืชก็มีชีวิต แล้วทำไมเราจึงกินมันได้ล่ะ? ก็แน่นอน วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้บอกแก่เราแล้วว่า พืชต่างจากสัตว์ มันไม่มีจิต ไม่มีความรู้สึก ไม่อยู่ในสิ่งที่คนอินเดียเรียกว่า "ชีวิตที่มีจิตวิญญาณ" แต่สำหรับนักปรัชญาและศาสดาของศาสนาต่าง ๆ จะตอบปัญหานี้อย่างไรล่ะ ถ้าตอบไม่ได้ก็คงต้องไปกินดินกินโคลนกันหมดแน่

        นักมังสวิรัติที่เคร่งครัดที่สุดในโลก


        ศาสนาพุทธกินมังสวิรัติก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะศาสนาพุทธในปัจจุบันไม่ได้นับเอาพืชเป็นส่วนหนึ่งของ "สรรพชีวิตที่มีจิตวิญญาณ" ด้วย แต่ว่า จากการศึกษาของนักวิชาการบางคน ศาสนาพุทธในยุคแรกสุดมีท่าทีที่ค่อนข้างคลุมเครือต่อปัญหาข้อนี้ ถ้าดูในข้อศีลแล้ว พืชเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเวียนกลับมาเกิดอีกได้ และต้องให้ความเคารพและปฏิบัติต่อพืชอย่างไม่เบียดเบียนด้วย เรื่องนี้ก็ไม่แปลกหรอก เพราะจริง ๆ แล้วพืชก็เป็น "ชีวิตพื้นฐาน" หรือ borderline beings ตามแนวคิดดั้งเดิมของปรัชญาอินเดียโบราณ ในเมื่อเป็นชีวิตก็ต้องไม่ไปทำร้ายมัน ต้อง "อหิงสา" แต่มันก็เป็นอาหารพื้นฐานของมนุษย์ที่ถ้าไม่กินก็จะไม่มีชีวิตรอด คือไม่กินก็เท่ากับฆ่าตัวตาย ระหว่างการไม่ฆ่าชีวิตอื่นกับการฆ่าตัวตาย ระหว่างอุดมคติกับชีวิตจริง ปัญหาข้อนี้อาจารย์ต่าง ๆ ของอินเดียยุคโบราณได้มีคำตอบไว้แตกต่างกันออกไป

        ในบรรดาลัทธิต่าง ๆ ของอินเดียนั้น ลัทธิที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีแนวปฏิบัติเคร่งครัดที่สุดไม่มีใครเกินลัทธิมังสวิรัติแบบศาสนาเชน ตามแนวคิดของศาสนานี้ ชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ และความสูงต่ำของแต่ละระดับนั้นก็ตัดสินด้วยชนิดของการรับรู้ว่ามีมากหรือน้อย พืชมีเพียงการรับรู้ทางการสัมผัสเท่านั้น จึงอยู่ในระดับต่ำที่สุด แต่การอยู่ในระดับต่ำก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะกระทำกับมันอย่างไรก็ได้ เพราะชีวิตจะอยู่ในระดับต่ำเพียงใดก็ตาม ก็ยังคงเป็นชีวิตอยู่ดี ยังคงมีความรู้สึกและความทุกข์อยู่ ผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นไม่อาจจะเมินเฉยต่อความจริงข้อนี้ได้

        แต่หากว่าชีวิตของพืชก็มีค่า การปฏิบัติ "อหิงสา" อย่างถึงที่สุดก็ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะเพียงแค่เราเดินผ่านพื้นหญ้าก็ต้องเหยียบย่ำไปบนชีวิตแล้ว หรือเดินไปในป่า ก็ต้องเสียดสีกระทบต้นไม้ใบไม้แน่นอน จะด้วยมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม ก็ทำให้พวกมันเจ็บปวดได้ ถ้าต้องการมีชีวิตอยู่ถึงวันพรุ่งนี้ เราก็ต้องกลืนกินพืชผักผลไม้จำนวนไม่น้อยเลย ดังนั้น ศาสนาเชนจึงรู้ถึงแนวทางการปฏิบัติของพวกตนตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องยอมที่จะประนีประนอม คือการลดการเบียดเบียนลงให้เหลือน้อยที่สุด อันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดรองจากการไม่เบียดเบียนเลย

        วิธีนี้ก็คือวิธีที่เลี่ยงไม่ได้แม้จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในทฤษฎีของศาสนาเชน คือการกินเฉพาะผลไม้ที่หล่นบนพื้นแล้วเท่านั้น รวมถึงพืชผักและธัญพืชที่ใกล้จะร่วงสู่พื้นแล้ว เพราะเขามองว่ามันได้ตายไปแล้ว กินเฉพาะเนยที่เพิ่งทำสด ๆ ใหม่ ๆ เท่านั้น เพราะมันยังไม่เริ่มบูด การบูดของเนยแปลว่าเริ่มมีเชื้อราแล้ว และราก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ไข่นั้นแตะต้องไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันมีความสามารถที่จะฟักตัวออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตระดับสูงที่มีประสาทสัมผัสครบทั้งห้าอย่าง หัวมันก็กินไม่ได้ เพราะมันเกิดอยู่ในดิน เป็น "ราก" ของพืช ถ้าถอนรากออก พืชทั้งต้นก็มีชีวิตต่อไปไม่ได้ ผลมะเดื่อก็กินไม่ได้ เพราะมันได้รับแป้งจากตัวต่อ และตัวอ่อนของต่อก็มักจะอาศัยอยู่ในนั้น แม้เป็นผลมะเดื่อที่ร่วงตายแล้วก็ตาม ก็อาจเป็นการเบียดเบียนชีวิตของตัวต่อได้ แอปเปิ้ล มะเขือ มะเขือเทศ และผลทับทิมก็กินไม่ได้ เพราะมันมีเมล็ดมาก กินไปหนึ่งผลก็เท่ากับฆ่าชีวิตไปสิบกว่าชีวิตแล้ว บร็อคโคลี่ก็กินไม่ได้ เพราะใบของมันมีการทับซ้อนกันหลายชั้นมาก ในนั้นอาจจะมีแมลงตัวเล็ก ๆ ที่ตามองไม่เห็นซ่อนอยู่จำนวนมาก พืชผักอื่น ๆ ถ้าโตจนถึงขนาดใกล้จะตายแล้วก็สามารถกินได้อย่างสบายใจ เพียงแต่ต้องตรวจดูใบผักแต่ละใบอย่างรอบคอบก่อน มิฉะนั้นอาจจะกินถูกหนอนหรือแมลงในนั้นไปด้วย

        ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะแม้เราจะระมัดระวังมากถึงขนาดนี้แล้วก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีบาปเลยจากการทำร้ายชีวิตอื่น ดังนั้น จึงควรจะลดปริมาณอาหารลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าทีพอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เหมือนศาสนาพุทธเถรวาทที่จะไม่กินอาหารหลังเวลาเที่ยง ยิ่งกว่านั้นในรอบสัปดาห์ต้องมีวันที่ถือการอดอาหารอีกด้วย (แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงของกินเล่นเลย แค่คิดก็ผิดแล้ว)

        คุณคิดว่าผมกำลังเยาะเย้ยพวกเขาอยู่หรือเปล่า? เปล่าเลย ตรงกันข้าม ผมนับถือในการถือศีลอย่างเคร่งครัดของสาวกในศาสนาเชนอย่างเต็มหัวใจ เพราะด้วยความเมตตา ด้วยหลักการ พวกเขาสามารถควบคุมความอยากในชีวิตได้ถึงระดับที่คนธรรมดาไม่อาจปฏิบัติได้ แถมยังเป็นแนวทางประนีประนอมอย่างเต็มที่แล้วเท่าที่จะทำได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นคำตอบที่ดีมากสำหรับปัญหาที่นักมังสวิรัติมักจะประสบอยู่เสมอ เช่น "พืชก็มีชีวิต กินมังสวิรัติแล้วก็ถือว่าไม่ฆ่าชีวิตได้หรือ?" หรือ "การปลูกผักก็ต้องฆ่าแมลงตายจำนวนมาก แล้วการกินแต่ผักจะถือว่าเลี่ยงการเบียดเบียนได้หรือ?" ไม่ผิดหรอก การเป็นนักมังสวิรัติที่จะไม่ทำร้ายชีวิตใด ๆ เลยนั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ปริมาณการฆ่าของคนที่กินมังสวิรัติกับคนที่ไม่กินมังสวิรัตินั้นต่างกันอย่างชัดเจน และความตั้งใจมุ่งหมายก็ยิ่งแตกต่างห่างไกลกันราวฟ้ากับดิน เป็นดังที่ เฉียน หย่ง เสียง ( 钱永祥 ) นักวิชาการไต้หวันได้กล่าวไว้ว่า ฆ่าคนหนึ่งคนก็ถือว่าฆ่าเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคยทำผิดพลาดด้วยการฆ่าคนมาแล้ว จะสามารถทำการสังหารหมู่ผู้คนได้อย่างไม่ต้องปราณีปราศัยอะไรอีก 

        เราไม่ต้องไปกินมังสวิรัติด้วยก็ได้ แต่เราไม่มีฐานะอะไรที่จะไปตั้งข้อสงสัยต่อนักมังสวิรัติที่มาจากจิตใจอันเป็นกุศล ไม่มีสิทธิ์ไปกล่าวหาว่าพวกเขาเสแสร้ง มันดูเหมือนเรื่องตลกเจื่อน ๆ ถ้าฮิตเลอร์จะมีสิทธิ์ไปประนามฆาตกรฆ่าคนอื่น ๆ 


เหลียง เหวิน เต้า
เขียนโดย เหลียง เหวิน เต้า ( 梁文道 )
ที่มา http://cul.qq.com/a/20171031/004091.htm?pgv_ref=aio2015&ptlang=2052

31 ต.ค. 2560

มักน้อย ใจพอ อิสรภาพ เสมอภาค


        ถามว่าทำอย่างไรจึงจะมีความสุข? พระพุทธเจ้าได้บอกเราไว้แล้วว่า ต้องมักน้อยและปล่อยวาง ต้องลดความยึดติดในความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ส่วนการปล่อยวางก็คือปล่อยให้เป็นไปตามธรรม แล้วเราก็จะได้อิสรภาพทั้งทางกายและใจ ดังนั้น ที่เราถาม ๆ กันว่า เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคืออะไร? ก็คืออิสรภาพ ความหลุดพ้นก็เห็นได้จากอิสรภาพนี้แหละ เมื่อเราไม่ถูกผูกมัดด้วยกิเลส (เหตุแห่งความเศร้าหมอง) เราก็ถึงความหลุดพ้น เราก็ได้รับอิสรภาพใช่มั้ยล่ะ

        แล้วอิสรภาพมันเป็นอย่างไรน่ะหรือ มีอยู่สองอย่าง คือกายกับใจ ชีวิตทุกคนบนโลกต้องมีสองอย่างนี้ ถ้าร่างกายของเราไม่มีโรค ถือว่ามีบุญบารมีมาก ร่างกายจึงมีอิสรภาพ และถ้าใจของเราไม่มีกิเลสครอบงำ ใจก็มีอิสรภาพ อิสรภาพทางร่างกายเกิดจากผลแห่งกุศลที่ได้ทำมา อิสรภาพทางใจเกิดจากความไม่มีกิเลสและความมีปัญญา เรามาปฏิบัติธรรมกันก็หวังว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ร่างกายจะไม่ต้องเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน จิตใจจะไม่ต้องมีความโลภอยากได้นั่นได้นี่อีก การที่ร่างกายไม่มีความเจ็บป่วยก็คืออิสรภาพทางกาย จิตใจไม่มีความโลภก็คืออิสรภาพทางใจ นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม

        ดังนั้น ตามที่ได้บรรยายไปแล้วนี้ ความมักน้อยจึงสำคัญเพราะเป็นหลักประกันของความสุขได้ ทุกวันนี้ทำไมครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวจึงไม่มีความสุข จริง ๆ ก็เกิดจากคนในครอบครัวมีความอยากที่มากเกินไปนั่นแหละ มีคนจำนวนมากที่ออกไปดิ้นรนทำงานทำการอยู่นอกบ้านใช่มั้ย ผู้ชายออกไปทำงานหาเงินก็แล้ว ผู้หญิงก็ออกไปทำงานหาเงินด้วยเหมือนกัน เลยไม่มีคนอยู่ดูแลอบรมลูกที่บ้าน ไม่มีคนเลี้ยงดู ต่อไปก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม เราจะหาเงินมากมายไปทำไมกัน ออกไปกินดื่มสังสรรค์อยู่นอกบ้านทั้งวัน ต้องไปออกงานสังคมต่าง ๆ จนไม่มีคนดูแลเรื่องในบ้าน ทั้งผู้ชายผู้หญิงก็ออกไปทำงานกันหมด ลูกก็ไม่มีคนใส่ใจดูแล คำโบราณของจีนที่ว่า "ช่วยสามีอบรมสั่งสอนบุตร" นั้นเป็นแนวคิดอย่างไร ผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่บ้านต้องดูแลลูกให้ดี เรื่องนี้ก็เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราอบรมสั่งสอนลูกดี ปลูกฝังสิ่งดีให้ลูกได้ ต่อไปเราก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้ามัวแต่ทำงานหาเงินอยู่ข้างนอก แม้ได้เงินทองมากองเต็มบ้าน แต่ลูกอยู่บ้านเสพยา เหมือนลูกของดาราบางคนนั่นแหละ ติดยาเสพติดไปแล้ว เป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ บ้านเขามีพร้อมทุกอย่าง แต่ลูกติดยา มันน่าเศร้ามั้ยล่ะ ดังนั้น เราจึงต้องดูแลอบรมลูกให้ดี เรื่องนี้เราต้องยอมสละเวลาจึงจะทำสำเร็จได้ ไม่ใช่ว่าจะออกไปทำงานพร้อมกันทีเดียวทั้งสองคน

        สมัยนี้เราส่งเสริมเรื่องความเสมอภาคกัน ในแง่ของการให้เกียรติกันเราพูดได้ว่าชายหญิงเสมอภาคกัน ในแง่ความเป็นมนุษย์ก็เสมอภาคเช่นกัน แต่ในด้านบทบาทหน้าที่ตามความเป็นจริงแล้ว ชายและหญิงจะทำหน้าที่อย่างเดียวกันเลยหรือไม่ เช่นของหนักห้าสิบกิโลกรัมให้ผู้ชายไปยกยังพอได้ แต่ถ้าให้ผู้หญิงไปยก มันไม่ไหว ใช่มั้ย? หรือการคลอดลูก จะให้ผู้ชายทำบ้าง มันทำได้หรือ? อันนี้มันไม่เสมอภาคแล้ว มีแต่ผู้หญิงที่คลอดลูกได้ ถูกมั้ย ดังนั้น เราจึงบอกว่าในครอบครัว ให้แม่ต้องอยู่บ้านอบรมเลี้ยงดูลูกให้ดี งานนี้ก็เป็นการทำประโยชน์แก่สังคมได้เหมือนกับผู้ชายที่ออกไปทำงานนอกบ้าน มีคุณค่าเสมอภาคกัน แต่สมัยนี้ที่เราบอกว่าส่งเสริมความเสมอภาคกันนั้น กลับไปเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างผิด ๆ ให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงออกไปทำงานหาเงินกันทั้งคู่ แต่ละคนก็ต้องไปออกงานพบปะสังสรรค์ทั้งวี่ทั้งวันจนไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง ลูกที่อยู่บ้านไม่มีคนดูแลเลย ถ้าเป็นอย่างนี้รับรองว่าสังคมมีปัญหาแน่

        อาตมาเคยไปเห็นมาในต่างประเทศ ชีวิตพวกเขาไม่เหมือนอย่างพวกเราในจีนเท่าไร พวกเขาดูสบาย ๆ และมีอิสระมาก เวลาทำงานก็คือทำงาน แต่นอกเวลางานแล้วต่อให้มีลูกค้ามาเท่าไรเขาก็ไม่รับ จึงมีบางคนพอไปถึงโรงแรมในต่างประเทศ บางโรงแรมพอถึงสองทุ่มก็ไม่มีพนักงานอยู่เวรแล้ว ถ้าเราไปถึงโรงแรมหลังสองทุ่มก็เข้าพักไม่ได้ แต่ที่เมืองจีนของเรานี่ ขอให้มีลูกค้ามาเถอะ จะกี่โมงกี่ยาม ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนก็ยังจะรับอยู่ ใช่มั้ย? นี่ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่งเหมือนกัน มันจึงนำมาซึ่งทุกข์ยังไงล่ะ


โดย 本源法师
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20171027/024433.htm

29 ต.ค. 2560

ทำไมเราจึงวิตกกังวลกับอนาคตอยู่เสมอ



        ทุกครั้งที่เราจะเดินทางหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เรามักจะกังวลว่าสภาพอากาศจะแย่หรือไม่ กังวลว่าวันพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ ความกังวลใจในทำนองนี้มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ แม้ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย 

        ตัวอย่างเช่น เป็นห่วงว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น จึงต้องซื้อของตุนไว้ เป็นห่วงสุขภาพร่างกายของตนเอง จึงต้องกินยาบำรุงหรืออาหารเสริมหลายอย่าง เป็นห่วงอนาคตของลูก ๆ จึงต้องสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้มาก ๆ 

        แม้แต่พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี ก็ยังมีที่มาจากฐานจิตที่มีความวิตกกังวล อย่างเช่นบางคนชอบแต่งหน้า เสริมความงาม หรือไปทำศัลยกรรม ก็เกิดจากความกังวลใจว่าตนเองยังสวยไม่พอ

        อันที่จริง เราทุกคนต่างก็แก่ตัวลงไปเรื่อย ๆ เส้นผมจะหงอกขาว ฟันฟางจะหลุดร่วงหมดปาก ผิวหน้าจะเต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่น ความกังวลใจอันไม่จำเป็นต่อสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราคิดวิตกอยู่เสมอ และสูญเสียความสามารถในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงของมันไป

        ในเรื่องนี้ เราลองมาดูกันว่าพระพุทธเจ้าได้เปิดเผยอะไรให้เราได้รู้บ้าง 

        ครั้งนั้นมีพราหมณ์ผู้เศร้าโศกผู้หนึ่งมาขอพบพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ เหตุเพราะบุตรสาวอายุเพียง ๑๔ ปีของเขาได้เสียชีวิตด้วยโรคร้ายอย่างกะทันหัน เคราะห์ซ้ำกรรมซัด พืชผลที่เขาเก็บไว้สำหรับครอบครัวก็ถูกไฟไหม้เสียหายจนหมดเกลี้ยง

        พราหมณ์ได้รับความทุกข์ร้อนจากเรื่องนี้เป็นอันมาก ทั้งโศกเศร้าและสับสน ถึงขั้นที่จะเสียสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว แต่เขาเคยได้ยินมาว่าพระพุทธองค์สามารถแก้ไขความโศกและขจัดความกังวลใจได้ จึงตั้งใจไปขอพบพระพุทธเจ้าให้ช่วย 

        "ลูกสาวสุดที่รักของข้าพเจ้าได้จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหันด้วยโรคร้ายแรง ข้าพเจ้าไม่อาจระงับความโศกเศร้าเสียใจของตนไว้ได้ หวังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเมตตาให้คำแนะนำแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"

        พระพุทธองค์ทรงชี้แนะว่า "ทุกชีวิตล้วนต้องดับสูญ ผู้ที่อยู่สูงย่อมมีวันตกต่ำ มีพบพานย่อมมีพลัดพราก มีเกิดก็ต้องมีตาย" พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความซาบซึ้งในธรรม และคลายออกจากความทุกข์ระทมที่ลูกสาวเสียชีวิตได้ในตอนนั้นเอง


        ทุกครั้งที่เราเกิดมีความทุกข์ร้อนกังวลใจ เราควรถามตัวเองดูว่า ทำไมจึงเกิดความทุกข์กังวลเหล่านี้ขึ้น ความทุกข์กังวลเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ หรือ?

        อันที่จริง ความกังวลใจต่อวันพรุ่งนี้ มักจะเกิดจากการที่เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงซึ่งไม่อาจได้ดังใจของเราเสมอไป หรือเราเอาแต่คิดว่าจะอยู่ในสภาพที่เป็นสุขและปลอดภัยไปตลอดกาล 

        หากเราหวังพึ่งเอาความสุขที่ต้องอาศัยแต่เหตุปัจจัยภายนอก หรือต้องเติมเต็มความต้องการบางอย่างให้ได้ดั่งใจเสมอไป เราก็จะไม่พ้นที่จะต้องเป็นทุกข์อยู่เสมอนั่นเอง เพราะเหตุปัจจัยภายนอกล้วนแปรเปลี่ยนเป็นอนิจจัง เช่น สภาพอากาศ เดี๋ยวก็แจ่มใสไม่มีเมฆเลย เดี๋ยวก็มีเมฆดำปกคลุมมืดดำ เดี๋ยวก็ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก

        เหตุปัจจัยภายนอกที่แปรเปลี่ยนแบบนี้เราไม่สามารถจะควบคุมอะไรได้เลย และการคาดหวังให้ปัจจัยภายนอกเป็นไปตามความต้องการของเรานั้น เรื่องแบบนี้มักไม่ค่อยจะเป็นจริงดังที่หวังมากนักหรอก มีเรื่องเล่าของพระอาจารย์หงอี (弘一大师) อยู่เรื่องหนึ่ง อาจจะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นนี้ได้ดีขึ้น

        ครั้งหนึ่งพระอาจารย์ได้เดินทางไปถึงวัดแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลต้อนรับของวัดต้องการจะทดสอบภูมิธรรมของพระอาจารย์ จึงทำอาหารมื้อแรกให้อย่างเค็มเป็นพิเศษ

        หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว ผู้ดูแลได้ถามพระอาจารย์ว่ารสชาติอาหารเป็นอย่างไร พระอาจารย์ก็ตอบว่า มีรสเค็มในความเค็ม

        วันต่อมา ผู้ดูแลเจตนาใส่เกลือให้น้อย ๆ ปรุงอาหารรสจืดเป็นพิเศษ แล้วเขาก็ถามพระอาจารย์อีกว่ารสชาติของอาหารเป็นอย่างไร พระอาจารย์ตอบว่า มีรสจืดในความจืด

        ด้วยเหตุนั้น ผู้ดูแลจึงยอมรับในภูมิธรรมของพระอาจารย์ด้วยความนับถือจริง ๆ เพราะไม่ว่าอาหารจะเค็มหรือจืด พระอาจารย์ก็รับรู้มันด้วยจิตอันเป็นปกติ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในความสงบและผ่องใสอยู่เสมอ


        แทนที่จะวิตกกังวลต่อเรื่องในอนาคต สู้เอาสติปัญญามาคิดเรื่องที่เราทำได้ในปัจจุบันดีกว่า โลกนี้ไม่มีแม่น้ำสายใดที่ไม่คดเคี้ยว และไม่มีเส้นทางสายใดที่จะราบรื่นตลอดไป

        เส้นทางชีวิตของแต่ละคนต้องพบกับปัญหาหรือความยากลำบากต่าง ๆ เป็นธรรมดา เมื่อพบแล้วก็หาทางแก้ไข เราควรจะเชื่อถือในตัวเราเอง และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาในความเป็นจริง ทำได้แบบนี้ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความผาสุก



        แทนที่จะเป็นห่วงว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ สู้เรียนรู้ที่จะชื่นชมกับชีวิตในสายฝนอย่างสุขสงบดีกว่า ก้าวย่างแต่ละก้าวในปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า


เขียนโดย 学诚法师
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20171026/025092.htm

27 ต.ค. 2560

การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ



"ช่วงเทศกาลกินเจ เป็นช่วงเวลาที่คนจำนวนมากนัดกันหยุดกินเนื้อสัตว์ โดยหันมากินพืชแทน สัตว์จำนวนมากจึงไม่ถูกฆ่าตายในช่วงเวลานี้ เทศกาลกินเจจึงมีส่วนช่วยให้สัตว์รอดตายเป็นจำนวนมาก การช่วยให้สัตว์รอดตาย โดยไม่ถูกคนฆ่าด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือด้วยสาเหตุต่าง ๆ เป็นภาระหน้าที่อันควรของพระพุทธเจ้าและพุทธบริษัทหรือไม่ หาคำตอบได้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์หรือไม่ฆ่าสัตว์ การกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ในพระไตรปิฎก ..."

        เรื่องการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับชาวพุทธ โดยเฉพาะในเมืองไทย คงจะมีการถกกันมาแล้วไม่น้อย เอาเฉพาะที่ผมเองซึ่งเพิ่งเริ่มศึกษาและปฏิบัติมาได้ไม่นานนักก็เคยได้อ่านได้เห็นมาบ้างพอสมควร โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าสัจจะในเรื่องนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ความเห็นและความเชื่อของคนในสังคม โดยเฉพาะสังคมชาวพุทธในประเทศไทย ยังคงมีความแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละหมู่คณะ ในที่นี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะมาชักชวนหรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านมากินมังสวิรัติกันทั้งหมด เพียงแต่ต้องการนำเสนอข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจแสวงหาความจริงได้มีโอกาสรับรู้และนำไปพิจารณาด้วยตนเองบ้างเท่านั้น

        ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในบทความนี้มาจากหนังสือที่ชื่อว่า "การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ" เขียนโดย ดร. ใจเพชร กล้าจน หรือ หมอเขียว โดยผมจะยกเอามาเพียงบางส่วนบางตอนที่มีประเด็นน่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่อยู่ในความนึกคิดของผม ส่วนท่านที่สนใจเนื้อหาเต็ม ๆ อยากได้หนังสือเล่มนี้ สามารถหาซื้อได้ที่สวนป่านาบุญตามภาคต่าง ๆ ในเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือติดต่อผมทางบล็อกนี้หรือทางเฟสบุคก็ได้ ถ้าอยู่ในวิสัยที่จัดหาให้ได้ผมจะช่วยจัดส่งไปให้เองครับ


        ศีลข้อ ๑ ...หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

"จุลศีล ข้อ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า เป็นการไม่ฆ่าสัตว์ เพราะทำให้สัตว์นั้นไม่ถูกฆ่า เป็นการช่วยลดการฆ่าสัตว์ เป็นการวางวิธีการและอาวุธที่ทำให้สัตว์ได้รับโทษทุกข์ เป็นการสร้างความละอายต่อบาป เป็นการสร้างความเอ็นดูเมตตาปรารถนาดีต่อสัตว์ เป็นการลงมือกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่น

ส่วนการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า เป็นการฆ่าสัตว์ เพราะทำให้สัตว์นั้นถูกฆ่า เป็นการเพิ่มการฆ่าสัตว์ เป็นการทำให้เกิดวิธีการและอาวุธที่ทำให้สัตว์ได้รับโทษทุกข์ เป็นการสร้างความไม่ละอายต่อบาป เป็นการสร้างความอำมหิต โหดร้ายปรารถนาร้ายต่อสัตว์ เป็นการลงมือกระทำให้เกิดโทษต่อตนเอง คนอื่นและสัตว์อื่น

ประเด็นเรื่องการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ การไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า จึงเป็นการปฏิบัติศีลที่สมบูรณ์ ส่วนการไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง แต่ยังกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า จึงเป็นการปฏิบัติศีลที่ไม่สมบูรณ์"

        จุลศีลข้อ ๑ นี้เป็นศีลข้อแรกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ มีข้อความเต็ม ๆ ในพระไตรปิฎกตามที่ได้อ้างมาข้างต้น ซึ่งไม่ได้มีสั้น ๆ แค่ว่าห้ามฆ่าสัตว์เท่านั้น แต่ยังต้องละต้องวางเครื่องมือหรือเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้สัตว์ตายด้วย รวมทั้งต้องเห็นแก่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายด้วย ...มันจึงน่าคิดอยู่นะครับว่าพระสมณโคดมทรงมีเจตนารมณ์อย่างไรในการบัญญัติศีลข้อนี้ขึ้นมา และการกินกับการไม่กินเนื้อสัตว์ อย่างไหนจะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายมากกว่ากัน

       การค้าขายที่ผิด

"พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ ๑๗๗ มิจฉาวณิชชา ๕ คือการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่พึงกระทำ "...ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ...

จะเห็นได้ว่า เมื่อมรรคมีองค์ ๘ ทางเอกสายเดียวที่พาพ้นทุกข์นั้น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เลี้ยงสัตว์ ไม่ขายสัตว์เป็น ไม่ขายเนื้อสัตว์ และไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งปวง ดังนั้น อาหารปกติของชาวพุทธจึงคือพืชไม่ใช่เนื้อสัตว์"

        นอกจากจะห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้ายังให้ละเว้นการขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ด้วย หากว่าคนส่วนใหญ่มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้ากันจริง ๆ แล้ว ท่านว่าการค้าของผู้ที่ขายเนื้อสัตว์อยู่ควรจะเป็นอย่างไร และการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์น่าจะเกี่ยวข้องกับการอุดหนุนการค้าขายเนื้อสัตว์หรือไม่

        หยุดกินเนื้อสัตว์ ลดโรค

"วิถีชีวิตแต่เดิมก่อนมาเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ของชาวแพทย์วิถีธรรม ๓๐๐ คน ส่วนใหญ่รับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม มีความเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ และใช้วิธีการรักษาแผนต่าง ๆ เมื่อหยุดกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าหรือกินเนื้อสัตว์น้อยลง กินอาหารให้ถูกสมดุลร้อนเย็น และดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรมข้ออื่น ๆ ต่อเนื่องกัน ๓ ปีขึ้นไป พบว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม อาการเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ลดน้อยลงถึงขั้นที่ไม่ต้องใช้วิธีการรักษาแผนอื่นเลย มีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ที่ยังมีความเจ็บป่วยบางอย่างต้องใช้การรักษาแผนอื่น ๆ ร่วมเป็นบางคราว

ในขณะที่ประชากรไทยทั่วไป รวมทั้งประชากรในโลก ส่วนใหญ่ที่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าอยู่ เมื่ออายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรค โดยเฉพาะ ๕ โรคเด่นคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปัญหาหลอดเลือดสมองไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และมะเร็ง รวมทั้งเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น"

        ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้หยุดกินเนื้อสัตว์มาประมาณหนึ่งปีแล้ว และพยายามปฏิบัติตามหลักของแพทย์วิถีธรรมข้ออื่น ๆ อยู่ด้วย พบว่าตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น อาการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายต่าง ๆ ลดน้อยลง และไม่เคยต้องไปหาหมอหรือกินยาแผนปัจจุบันอีกเลย ถ้าท่านสงสัยว่าข้อมูลนี้จะเชื่อได้หรือไม่ ก็น่าจะลองพิสูจน์ด้วยตัวเองดูนะครับ

        คนกินเนื้อคนเป็นอาหาร

"ถ้ามีคนกินคนเป็นอาหาร แต่อ้างว่าตัวเองถือศีล จึงไม่ฆ่าคน แต่ถ้ามีใครเอาเนื้อคนมาขายหรือให้ฟรี ก็ซื้อหรือรับมาฟรี ๆ จากพฤติกรรมดังกล่าวของคนที่กินคน ๆ นั้น ได้เป็นแรงจูงใจให้คนที่อยากได้เงินจากคน ๆ นั้น หรือศรัทธาหรือสงสารคนที่กินคน ๆ นั้น จึงไปฆ่าคนมาขายหรือมาให้คนที่กินคน ๆ นั้น ดังนั้น คนที่กินคน ๆ นั้นย่อมมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ถูกนำมาเป็นอาหารนั้นถูกฆ่า ย่อมเข้ากับสภาพที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "...ผู้ใดปรารถนาความสุขเพื่อตนด้วยการเข้าไปตั้งความทุกข์ไว้ในผู้อื่น ผู้นั้นระคนแล้วด้วยความเกี่ยวข้องด้วยเวร ย่อมไม่พ้นไปจากเวร" (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑) นัยยะเดียวกันกับการที่ผู้ใดยังกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่าอยู่ก็ย่อมเป็นต้นเหตุสำคัญให้สัตว์ถูกฆ่า"

        ลองคิดดูว่าถ้ามีคนที่กินเนื้อคนอาศัยอยู่ในตำบลของเรา แถมคน ๆ นั้นยังได้รับความนับถือจากคนอีกหลาย ๆ คนในตำบลเดียวกันด้วย แค่คิดก็รู้สึกสยดสยองมากแล้ว ...หากว่าเนื้อของญาติท่านถูกคน ๆ นั้นกิน เหตุเพราะญาติของท่านถูกฆ่าตาย ไม่ว่าผู้ที่ฆ่าญาติของท่านจะมีเจตนาเจาะจงเอาเนื้อนั้นไปให้คนกินหรือไม่ก็ตาม ท่านจะคิดจองเวรกับผู้ที่กินเนื้อญาติของท่านด้วยหรือไม่ แล้วพวกสัตว์อื่น ๆ ล่ะ ท่านคิดว่าพวกมันจะผูกเวรกับคนที่กินเนื้อพวกมันหรือญาติ ๆ ของพวกมันบ้างมั้ย

        ชักชวนผู้อื่นไม่ให้ฆ่าด้วย

"พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตน ข้อ ๑๔๕๙ "ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลง (ฆ่า) เรา ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลง (ฆ่า) คนอื่น ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้"

        ท่านคิดว่าการกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากการฆ่าหรือไม่ เป็นการสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากการฆ่าหรือไม่ คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่จะสามารถกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการไม่ฆ่า และชักชวนคนอื่น ๆ ไม่ให้ฆ่าได้สำเร็จหรือไม่ 

        ปวัตตมังสะและอุทิศมังสะ

"ปวัตตมังสะ ที่ถูกสภาวธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าทุกสูตร และเมื่อปฏิบัติถูกตรงตามธรรมแล้วเกิดอรรถ (ประโยชน์) ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ตรวจสอบอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ (ที.ปา. ๑๑/๑๐๘) ควรแปลว่า "เนื้อที่เป็นไปแล้ว, เนื้อที่ดำเนินไปตามปกติ เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือเดนสัตว์ทั่ว ๆ ไปซึ่งเกิดจากสัตว์ฆ่าสัตว์กินกันเองตามวิบากของเขาแล้วเหลือเดนทิ้ง, ไม่ใช่สัตว์ที่เป็นโรคตาย (จึงจะสอดคล้องกับจัตตาริสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสให้บริโภคอาหารที่ไม่มีโทษ), ไม่ใช่สัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า (การเจาะจงฆ่าสัตว์เป็นบาป)" ตรงกันข้ามกับอุทิศมังสะ (อุทิศ แปลว่า เจาะจง, มังสะ แปลว่า เนื้อ) อุทิศมังสะ จึงควรแปลว่า "เนื้อของสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า" ไม่ใช่แปลเพียงแค่ว่า "เนื้อของสัตว์ที่เกิดจากในขณะฆ่าสัตว์นั้น ผู้ฆ่าเจาะจงที่จะนำมาถวายพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น" เพราะทุกขั้นตอนของการเจาะจงฆ่าก็บาปแล้ว ไม่ว่าจะเจาะจงฆ่าเพื่อใครหรือไม่ก็ตาม ล้วนบาปทั้งนั้น)"

         ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะมึน ๆ สักหน่อย คำว่า "ปวัตตมังสะ" คืออันเดียวกันกับที่หมอเขียวเขียนไว้ในช่วงต้นว่า "เนื้อสัตว์ที่ถูกเจาะจงฆ่า" นั่นเอง อันนี้ผมขอสรุปความให้สั้น ๆ อีกทีนะครับว่า เนื้อของสัตว์ที่ตายเองหรือเป็นเดนสัตว์นั้นไม่มีบาป แต่เนื้อของสัตว์ที่ถูกคนฆ่า ไม่ว่าตอนที่เขาฆ่าจะตั้งใจนำมาให้ใครหรือไม่ก็ตามนั้นมีบาป

        เขตบุญนอกศาสนาพุทธ

"พระพุทธเจ้าระบุว่า หนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ คือ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธ การแสวงหาเขตบุญคือ แสวงหาความดีในการชำระกิเลสภายนอกศาสนาพุทธ คือ นอกศีล สมาธิ ปัญญา หนึ่งในสิ่งที่อยู่นอกพุทธ คือ เนื้อสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า เพราะผิดศีลข้อ ๑ ซึ่งศีลข้อ ๑ คือการไม่ฆ่าสัตว์นั้นเป็นมหาทาน บัณฑิต พึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด... กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าจึงเป็นสิ่งน่ารังเกียจและอยู่นอกพุทธ... และสิ่งที่อยู่นอกพุทธอีกอย่างหนึ่งคือ สัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ถูกขาย (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ ๑๗๗) ดังนั้น การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกคนเจาะจงฆ่า เนื้อสัตว์ที่ถูกขาย จึงคือหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ"

        ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย

"พระพุทธเจ้าตรัสถึง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความเรียบง่าย เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย ต้องอยู่ในกรอบของศีล คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่มีโทษต่อตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น ต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือคนอื่น หรือสัตว์อื่น"

        ทำไมวัวควายไม่เป็นอรหันต์

"สัตว์ที่เป็นคนเท่านั้นเป็นอรหันต์ได้ แต่บางคน (ปริมาณเท่าฝุ่นปลายเล็บ) เป็นอรหันต์ได้ (รู้อริยสัจสี่และไตรสิกขา) แต่หนาคน (ปริมาณเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน) เป็นอรหันต์ไม่ได้ คนกินพืชเป็นอรหันต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติอริยสัจสี่และไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ตัดกิเลสกามและอัตตาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ได้ คนกินพืชจะเป็นอรหันต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ไม่ได้ ถ้าไม่รู้อริยสัจสี่และไตรสิกขา แต่เขาคนนั้นจะได้สิ่งดีมากกว่าที่เขากินเนื้อสัตว์"

        พระพุทธเจ้าเองก็ฉันเนื้อสัตว์อย่างนั้นหรือ?

"คนอินเดีย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าผู้มีพระมหาปัญญาธิคุณทรงทราบดีว่า ศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในอินเดียดูถูกและรังเกียจการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าย่อมไม่ฉันเนื้อสัตว์ เพราะการฉันเนื้อสัตว์ จะมีส่วนทำให้คนอีกส่วนหนึ่งเสื่อมศรัทธา ดูถูกหรือรังเกียจต่อศาสนาพุทธ ส่วนผู้ที่พระพุทธเจ้าอนุโลมให้กินเนื้อสัตว์ท่านก็กำหนดศีลวินัยไว้ ดังที่กล่าวรายละเอียดมาข้างต้น ซึ่งจะทำให้กินได้น้อย ได้ยาก และไม่เป็นเหตุแห่งการเบียดเบียน"

        ความจริงที่ท้าทายให้มาพิสูจน์

"ท่านที่ยังสงสัยว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปหรือไม่ การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญหรือไม่ ก็สามารถปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตนเองได้ คือ ทดลองกินเนื้อสัตว์ ๑ สัปดาห์ และหยุดกินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน ๑ สัปดาห์ ทำสลับไปมาเรื่อย ๆ ท่านจะสังเกตพบว่า สัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์ อาหารจะย่อยยากกว่า ไม่สบายตัวกว่า ส่วนสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน อาหารจะย่อยง่ายกว่า สบายตัวกว่า และสัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์มักจะมีเรื่องร้าย ๆ เข้ามาในชีวิตมากกว่าสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทน ส่วนสัปดาห์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วกินพืชแทนมักจะมีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตมากกว่าสัปดาห์ที่กินเนื้อสัตว์ เป็นการพิสูจน์ตามคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้ ความสั่งสมบุญ นำสุขมาให้" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๙)"


        อาจารย์หมอเขียวได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า "เมื่อท่านอ่านเนื้อความดังต่อไปนี้แล้ว ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่าน ผู้เขียนไม่มีเจตนาโต้เถียงเพื่อเอาชนะคะคานผู้ใด" และในช่วงต้นของหนังสือได้แสดงแนวทางในการศึกษาและปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า "...เมื่อท่านได้ศึกษาอย่างเข้าใจดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะต้องหยุดกินเนื้อสัตว์ทันที ท่านก็ปฏิบัติลดละเลิกการกินเนื้อสัตว์ตามฐานจิตตามบุญบารมีของท่าน..." ดังนั้น ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบทความนี้ก็ย่อมได้ ผมเพียงแต่นำเสนอในสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาและกำลังพิสูจน์อยู่เท่านั้น หากท่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของท่าน และผมก็ยังยินดีรับฟังความเห็นของท่านด้วยเช่นกัน

        พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นอาจารย์ของเรา เพราะถ้าเราเชื่อเพียงเพราะว่าท่านเป็นอาจารย์ก็จะกลายเป็นความเชื่อตามอย่างผิวเผิน กลายเป็นความงมงาย ไม่หยั่งลึก ไม่มั่นคง เราจึงควรพิจารณา ตรวจสอบ และทำการพิสูจน์ด้วยตนเองเสียก่อน เมื่อได้พบความจริงด้วยตนเองแล้วก็จะเกิดความเชื่อที่ชัดเจนมั่นคงขึ้นเอง ยิ่งถ้าได้พากเพียรพิสูจน์ไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตนได้พิสูจน์มาแล้วยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ...การพิสูจน์ในโหมดนี้จะเป็นโหมดที่ต้องดำเนินไปอย่างยาวนาน อาจจะนานไปจนถึงชาติหน้าด้วยก็ได้ นานจนกว่าจะพิสูจน์พบว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงเสียแล้ว หรือไม่เช่นนั้น ก็จนกว่าจะพบว่ามันเป็นจริงจนไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์อีกแล้ว

21 ต.ค. 2560

กินปลาแล้วจะฉลาดจริงหรือ?



        ดูจากในหนังหรือสารคดีบางเรื่อง ฉันอดที่จะทึ่งในความมหัศจรรย์และความสวยงามของท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไม่ได้ ยิ่งเราตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของทะเลมากเท่าไร มนุษย์ก็ยิ่งทำลายล้างธรรมชาติทางทะเลอย่างโหดร้ายมากเท่านั้น วันนี้ฉันอยากจะชวนคุยเรื่องเหตุผล ๑๐ ข้อที่เราไม่ควรกินปลา ไม่ใช่เพียงเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเลเท่านั้น แต่เพื่อสุขภาพของเราเองด้วย

        เหตุผลข้อที่ ๑ ขยะพลาสติกกำลังทำลายทะเล


        วันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๖ เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มและกองทุนเอลเลน แม็คอาเธอร์ (Ellen MacArthur) ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันท้องทะเลทั่วทั้งโลกมีขยะพลาสติกมากกว่า ๑๖๕ ล้านตัน หากเรายังไม่มีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เมื่อถึงปี ๒๐๕๐ ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมีมากกว่าปริมาณปลาเสียอีก ในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่ทะเล ๘ ล้านตัน หรือเท่ากับว่าในทุก ๆ นาทีเราจะมีรถขนขยะเทขยะพลาสติกเต็ม ๆ คันรถลงสู่ทะเล ในบรรดาขยะพลาสติกเหล่านี้มีอยู่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ที่จะล่องลอยอยู่ตามผิวน้ำ เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์ทะเลอย่างใหญ่หลวง น้ำถูกปนเปื้อน คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม สัตว์ทะเลเสียชีวิตจำนวนมาก ระบบนิเวศน์ทางทะเลถูกทำลาย สัตว์ทะเลประมาณ ๗๐๐ ชนิดพันธุ์ตกอยู่ในภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ ขยะพลาสติกในทะเลที่อันตรายที่สุดคือตาข่ายดักปลาที่ถูกทิ้งแล้ว บางชิ้นมีความยาวหลายไมล์ ชาวประมงเรียกมันว่า "ข่ายปิศาจ" ซึ่งเมื่อถูกกระแสน้ำพัดพา ตาข่ายดักปลาเหล่านี้จะพัวพันเกาะกันเป็นผืนใหญ่ กลายเป็น "กับดักมรณะ" สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ในทุกปีข่ายปิศาจเหล่านี้จะรัดตัวสัตว์ในทะเลและทำให้พวกมันจมน้ำตายจำนวนปีละหลายพันตัว ทั้งแมวน้ำ สิงโตทะเล และโลมา

        เหตุผลข้อที่ ๒ ปลาเป็นที่เก็บสะสมโลหะหนักและสารเคมีอันตรายจำนวนมาก


        ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยน้ำนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียใต้ของสหรัฐอเมริการะบุว่า คนที่กินปลามีสาร DDT ในกระแสเลือดมากกว่าคนที่ไม่ค่อยกินปลาถึง ๕ เท่า สารปรอทจากของเสียอุตสาหกรรมจะแพร่ผ่านทางอากาศ น้ำ และห่วงโซ่อาหารเข้าไปสู่ตัวปลา ในตัวปลาชนิดต่าง ๆ มีสารปรอทแฝงอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงการได้รับสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักที่เป็นอันตราย ก็อย่าไปกินพวกมันเลยดีกว่า เนื้อและไขมันปลาล้วนมีสารเคมีตกค้างในปริมาณสูง ถึงขั้นที่ว่าสูงยิ่งกว่าสารเคมีที่พบในแหล่งน้ำที่มันอาศัยอยู่ถึงหลายพันเท่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของสถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า ๘๔ เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ทะเลทั่วโลกมีปริมาณสารปรอทในตัวมากเกินกว่าค่ามาตรฐาน จึงได้มีการเตือนให้สตรีมีครรภ์และเด็กเล็กรับประทานสัตว์ทะเลได้เพียงบางชนิดที่มีสารปรอทอยู่ในปริมาณต่ำเท่านั้น

        เหตุผลข้อที่ ๓ กินปลาแล้วจะฉลาดจริงหรือ


        ท้องทะเลของเราเต็มไปด้วยสารพิษ polychlorinated biphenyls (PCBs) และส่วนใหญ่สะสมรวมกันอยู่ในตัวปลา แม้ว่าสารเคมีอันตรายที่มนุษย์ประกอบขึ้นนี้จะถูกห้ามใช้ในหลายประเทศแล้วก็ตาม สาร PCBs เป็นสารก่อมะเร็งและมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาท รวมทั้งความจำระยะสั้นและการเรียนรู้ ตลอดจนระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ด้วย ดังนั้น ถ้าอยากจะฉลาดก็อย่ากินปลาจะดีกว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของปลาค็อดในแม่น้ำฮัดสันของเมืองนิวยอร์ค คือพวกมันได้ปรับเปลี่ยนยีนส์ตัวเองเพื่อต่อต้านสาร PCBs และ Dioxins เพื่อให้ตัวมันเองสามารถอยู่รอดได้ในแหล่งน้ำที่มีสารพิษเหล่านี้อยู่ แต่นี่ก็เป็นสาเหตุให้สารพิษร้ายแรงสองชนิดนี้แพร่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร นักวิจัยพบว่า ๙๔ เปอร์เซ็นต์ของปลาค็อดที่มีอายุ ๒ ปีในแม่น้ำนี้จะป่วยเป็นโรคเนื้องอกในตับ ศาสตราจารย์ไอแซค วิลคิน แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์คระบุว่า "พวกมันเป็นอาหารตามธรรมชาติของปลากะพง เราก็กินปลากะพงแล้วได้รับสารพิษจากปลาค็อดที่กลายพันธุ์เหล่านี้เข้าไปในร่างกายและอาจเป็นพิษถึงตายได้"

        เหตุผลข้อที่ ๔ มีปลาให้กินอยู่เยอะแยะ กินยังไงก็ไม่หมดหรอก? ความจริงปลาหลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว


        มีรายงานขององค์การสัตว์ป่าโลก (WWF) ชี้ว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ถูกจับได้ทั่วโลกถูกทิ้งไปเพราะไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ เท่ากับว่าในแต่ละปีมีปลา ๓๘ ล้านตันต้องถูกทิ้งให้ตายไปเปล่า ๆ การจับปลาที่มากเกินไปของมนุษย์มีผลในการทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมากจนไม่อาจฟื้นคืนได้แล้ว การประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทำให้ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของปลากินเนื้อขนาดใหญ่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และการประมงเชิงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น การใช้อวนลากที่ระดับพื้นทะเล วิธีการนี้จับปลาได้ครั้งละนับพันนับหมื่นตัวและทำให้ปลาตายอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำความเสียหายต่อพื้นทะเลชนิดที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. ๒๐๔๘ ปลาชนิดต่าง ๆ จะสูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น สักวันหนึ่งมนุษย์จะต้องชดใช้อย่างเจ็บปวดจากความละโมบของตนเอง บางครั้งแม้แต่เต่าทะเลและโลมาที่เป็นสัตว์ใหญ่ในทะเลก็ถูกจับด้วยวิธีการอันทารุณแบบนี้ด้วย

        เหตุผลข้อที่ ๕ Ocean Dead Zone ที่น่ากลัว


        เขตที่เรียกว่า Ocean Dead Zone กำลังขยายตัวไปทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ การตายทีละมาก ๆ ของสัตว์ทะเลเช่นโลมาคือสัญญาณเตือนสำหรับมนุษยชาติ ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การเลี้ยงปลาในพื้นที่ขนาดใหญ่ก่อให้เกิดมลพิษในทะเลมากยิ่งกว่าส่วนที่มนุษย์ทิ้งขยะด้วยมือตัวเองเสียอีก ทั้งยาปฏิชีวนะ สารเคมี วัสดุกั้นขอบเขต เศษอาหารที่เหลือทิ้ง ฯลฯ มลพิษเหล่านี้ถูกมหาสมุทรพัดพากระจายไปทั่วโลก ธาตุอาหารที่ปนเปื้อนมลพิษนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยา fertilization และเป็นผลให้สาหร่ายทะเลเจริญเติบโตอย่างฉับพลัน การเติบโตของสาหร่ายที่มากเกินไปจะทำให้ออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง และทำให้เกิดกาซแอมโมเนียและมีเทนเพิ่มขึ้น สภาวะแบบนี้จะเป็นพิษภัยต่อสัตว์ในทะเลอย่างมาก จนกลายพื้นที่กว้างใหญ่ที่เรียกว่าเขตมรณะในมหาสมุทร (Ocean Dead Zone)

        เหตุผลข้อที่ ๖ การสังหารหมู่อย่างไร้ศีลธรรม


        ในภาพยนตร์เรื่อง "The Mermaid" (ของโจวซิงฉือ) ตอนที่เติ้งเชาเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตพบว่าโซนาร์เป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตสัตว์ในทะเล ในจอคอมพิวเตอร์ของเขาจะเป็นภาพสั่น ๆ ของเลือดที่นองเต็มไปหมด อันที่จริงภาพนั้นมาจากหนังสารคดีที่ได้รางวัลออสการ์เรื่อง "The Cove" การฆ่าล้างบางมนุษย์เงือกในหนังเรื่อง The Mermaid ก็สะท้อนให้เราคิดถึงการนองเลือดในการล่าโลมาขนานใหญ่ที่ Taiji ในญี่ปุ่นเช่นกัน น้ำทะเลในที่เห็นจอถูกย้อมด้วยสีแดงของเลือดเต็มไปหมด ฝูงฉลาม วาฬ และโลมา (แม้ว่าวาฬและโลมาจะไม่ใช่ปลา แต่ชะตากรรมของมันก็น่าสังเวชเหมือนกัน) ถูกต้อนเข้าไปรวมกันในชายหาดที่เป็นน้ำตื้น แล้วถูกมนุษย์ฆ่าฟันด้วยมีด มีโลมาตัวที่อายุน้อยบางตัวรอดตายมาได้ แต่ก็ถูกขายให้แก่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อไปฝึกและทำการแสดงให้มนุษย์ดู ส่วนโลมาที่ถูกฆ่าตายในที่นั้นจะถูกย้อมแมวขายว่าเป็นเนื้อวาฬ โดยวางขายอยู่บนชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น... ฟันของมนุษย์บางครั้งก็แหลมคมและเยียบเย็นยิ่งกว่าใบมีดเสียอีก

        เหตุผลข้อที่ ๗ การเลี้ยงสัตว์น้ำไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย


        ถ้ากินปลาในทะเลไม่ได้ แล้วปลาเลี้ยงในฟาร์มล่ะ? ปลาเลี้ยงจะอยู่ในฟาร์มเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่นเกินไป สถานที่เลี้ยงไม่สะอาด เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้ปลาตายมาก ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเอายาปฏิชีวนะให้ปลากิน ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ในรายงานสภาวะเศรษฐกิจของจีน ได้อ้างคำพูดของเจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลาคนหนึ่งที่เมืองเยียนไถ (烟台) ว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่เลี้ยงในฟาร์มมียาปฏิชีวนะ และมีการให้ยาคุมกำเนิดสัปดาห์ละสองครั้ง ปลิงทะเลต้องแช่ฟอร์มาลิน คนในท้องถิ่นจะไม่ยอมกินมันเลย ความจริงปลาที่มีการเลี้ยงในฟาร์มทั่วโลกยังมีปริมาณมากกว่าวัวเสียอีก พวกมันถูกเลี้ยงในสภาพที่ทุกข์ทรมานจากโรคต่าง ๆ การเบียดเสียดในพื้นที่แคบ ๆ ความพิการและพฤติกรรมรุนแรงอื่น ๆ จนทำให้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาที่เลี้ยงในฟาร์มจะตายตั้งแต่ยังไม่ทันถูกฆ่าด้วยซ้ำ

        เหตุผลข้อที่ ๘ แม้พวกปลาจะดูเงียบ ๆ แต่มันก็มีความเจ็บปวดเหมือนกัน


        บางคนอาจจะรู้สึกรังเกียจการกินหมาหรือแมว และไม่กล้าดูภาพการฆ่าไก่ หมู วัว หรือแกะ แต่กลับกินปลาได้อย่างไม่มีความรู้สึกรู้สาอะไร อันที่จริง เราควรจะรู้ว่าปลา (รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ ด้วย) ที่เราเห็นแม้ว่ามันจะดูเงียบสงบดี แต่สัตว์ทุกชนิดก็กลัวความเจ็บปวดเหมือนมนุษย์ กลัวการถูกฆ่า นักวิทยาศาสตร์พบว่า พวกปลาก็มีสมองและระบบประสาทรับรู้ความเจ็บปวดได้ ก็แปลว่าพวกมันมีความรู้สึกเจ็บปวดได้เหมือนมนุษย์นั่นเอง

        เหตุผลข้อที่ ๙ ถ้าไม่กินปลาแล้วจะให้กินอะไรล่ะ? เรามีทางเลือกสำหรับสุขภาพที่ดีกว่า


        นิยามอย่างใหม่ของปลาคือ สารประกอบของโปรตีนและไขมัน ปรุงด้วยสารเคมีอันตรายปริมาณมาก นอกจากนี้ พยาธิที่พบในตัวปลาจำนวนมากเป็นพวกมีตัวโปร่งแสง จึงถูกตรวจพบได้ยาก การป้องกันปลาให้ห่างจากโต๊ะอาหารของเราไม่เพียงเป็นเรื่องดีสำหรับพวกมันเท่านั้น ยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราเองด้วย ปลาไม่ได้สร้างกรดไขมันโอเมก้า ๓ ด้วยตัวมันเอง พวกมันได้โอเมก้า ๓ มาจากสาหร่ายทะเล ยังมีพืชอีกหลายชนิดก็มีโอเมก้า ๓ อยู่มากเช่นกัน เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย งา วอลนัท อัลมอนด์ สาหร่ายทะเล อะโวคาโด เป็นต้น นอกจากนี้ เราอาจจะยังไม่รู้ว่าถั่วดำ ถั่วแดงหลวง ดอกกะหล่ำสีขาว กะหล่ำจิ๋ว (spore cabbage) ก็มีโอเมก้า ๓ มากเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงสามารถกินพืชผักสุขภาพเหล่านี้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ เรายังสามารถทดลองใช้หญ้าทะเลกับอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบกันเพื่อปรุงเป็นอาหารที่มีรสชาติเหมือนปลาได้ด้วย เช่น ใช้ถั่วลูกไก่ทำสลัดได้รสชาติเหมือนสลัดทูน่ามาก ๆ เป็นต้น

        เหตุผลข้อที่ ๑๐ เพื่อที่จะมองตาพวกมันได้อย่างสงบ 


        ฟรานซ์ คาฟคา เป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งในศตวรรษที่ ๒๐ เขาเป็นนักมังสวิรัติและเคยเข้าร่วมขบวนการต่อต้านการศึกษากายวิภาคด้วยการผ่าแยกร่างของสัตว์อย่างแข็งขัน นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้สนับสนุนการกินอาหารธรรมชาติแบบ raw food ในยุคต้น ๆ ด้วย หลังจากที่คาฟคาตัดสินใจกินมังสวิรัติตลอดชีวิต เขามองดูปลาในตู้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่กรุงเบอร์ลินและรำพึงรำพันกับตัวเองว่า "ในที่สุดฉันก็สามารถมองดูพวกแกด้วยใจอันสงบเสียที เพราะฉันจะไม่กินพวกแกอีกแล้ว"


ที่มา http://ss.zgfj.cn/JSCS/2016-07-09/16859.html

14 ต.ค. 2560

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ



        เมื่อคุณกำลังคิดว่าจะกินมังสวิรัติดีหรือไม่ มันมักจะมีความเชื่อบางอย่างมาคอยขัดขวางคุณอยู่ใช่ไหม เมื่อคุณกำลังทดลองกินอาหารแบบมังสวิรัติอยู่ มักจะมีคนบางคนอ้างทฤษฎีที่คิดเอาเองมาสั่งสอนคุณใช่ไหม เราลองมาไล่เรียงดูความเชื่อบางอย่างที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ แล้วเอาความจริงมาลบล้างมันไปเป็นข้อ ๆ ดังนี้

        ความเชื่อ - ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์เลยจะขาดโปรตีน
        ความจริง - คนในปัจจุบันมักจะได้รับโปรตีนมากเกินไป (คนอเมริกันได้รับโปรตีนมากกว่าที่ร่างกายต้องการ ๗ เท่า) จริง ๆ แล้วเราสามารถได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอจากพืชหลายชนิดมาก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ เห็ด บร็อคโคลี่ ผักโขม ฯลฯ นอกจากนี้ การได้รับโปรตีนเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุน โรคไตวาย และโรคของคนมีอันจะกินอื่น ๆ อีกหลายโรค

        ความเชื่อ - อาหารมังสวิรัติมีแต่ราคาแพง ๆ ทั้งนั้น
        ความจริง - อาหารที่คนส่วนใหญ่กินกันเป็นประจำเช่น ข้าว เส้นหมี่ เต้าหู้ ถั่วชนิดต่าง ๆ ล้วนมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ เงินที่ประหยัดได้จากการงดซื้อเนื้อสัตว์สามารถนำมาซื้อน้ำนมธัญพืช ผักและผลไม้ได้ นอกจากนี้ อาหารมังสวิรัติจะช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้น จึงทำให้เราลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยต่าง ๆ ลงได้ด้วย

        ความเชื่อ - ต้องกินเนื้อสัตว์ร่างกายจึงจะแข็งแรง
        ความจริง - สมาคมผู้ป่วยโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ระบุว่า นักมังสวิรัติและชาว Vegan (ผู้ที่กินมังสวิรัติแบบเคร่งครัด ไม่กินทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากสัตว์) จะมีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ อัตราการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานค่อนข้างน้อย ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจชนิดขาดเลือดก็ต่ำ อัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งโดยภาพรวมก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ADA จึงสรุปข้อดีของอาหารมังสวิรัติหรืออาหารแบบ vegan ไว้ว่า "มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ ส่งเสริมความแข็งแรงและมีผลดีต่อร่างกายในด้านการป้องกันและรักษาโรค" 

        ความเชื่อ - การทำเต้าหู้เป็นการทำลายป่าฝน
        ความจริง - กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเคยเผยแพร่ภาพแผนที่แสดงการใช้พื้นที่การเกษตรในเขตป่าฝน (rainforest) ลุ่มน้ำอเมซอน พบว่า ๘๖ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าฝนที่ถูกทำลายนั้น เป็นฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ มีเพียง ๔ เปอร์เซ็นต์ที่ถูกใช้เพาะปลูกถั่วเหลือง นอกจากนี้ เราควรจะรู้ด้วยว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของถั่วเหลืองที่มีการปลูกกันทั่วทั้งโลกถูกนำไปเป็นอาหารสัตว์ ปริมาณธัญพืชและถั่วเหลืองเฉพาะที่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงวัวในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็สามารถเลี้ยงคนให้กินอิ่มได้ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก (๑๔๐๐ ล้านคน) 

        ความเชื่อ - ห่วงใยสัตว์มากขนาดนั้นเลยหรือ? เป็นห่วงมนุษย์บ้างดีกว่ามั้ย
        ความจริง - ความทุกข์ยากต่าง ๆ ของสัตว์โลกล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ความห่วงใยต่อสัตว์กับความห่วงใยมนุษย์ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กันเลย ถ้าเราเลือกแนวทางการกินมังสวิรัติเพื่อลดความทุกข์ยากให้แก่โลกนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเราห่วงใยแต่สัตว์เท่านั้น ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ตระหนักรู้ว่าชาวมังสวิรัติก็กำลังช่วยเหลือมนุษย์อยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะธัญพืชจำนวนมหาศาลได้ถูกใช้ไปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ ถ้าเราเลิกเลี้ยงสัตว์เพื่อมาเป็นอาหารของคน และนำธัญพืชที่ปลูกได้มาเป็นอาหารคนโดยตรง แทนที่เราจะเลี้ยงคนให้กินอิ่มได้แค่หนึ่งครอบครัว เราจะสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน

        ความเชื่อ - พืชก็มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน
        ความจริง - พืชไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง ไม่มีปลายประสาท จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าพืชก็มีความรู้สึกเจ็บปวด แต่สัตว์สามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้เพราะความรู้สึกเจ็บปวดจะช่วยให้พวกมันรู้จักปกป้องตนเอง ถ้าเราสัมผัสถูกสิ่งใดแล้วทำให้รู้สึกเจ็บเราก็จะเรียนรู้ว่าต่อไปจะไม่ไปสัมผัสถูกสิ่งนั้นอีก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราหวังว่าควรทำให้โลกมีการสูญเสียชีวิตน้อยที่สุด การกินมังสวิรัติก็ยังเป็นแนวทางที่ดีกว่าการกินเนื้ออยู่ดี เพราะทุกวันนี้มีธัญพืชและถั่วต่าง ๆ จำนวนมากถูกนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ในการผลิตเนื้อวัวหนัก ๑ กิโลกรัม เราต้องสิ้นเปลืองพืชไปเป็นอาหารสัตว์มากถึง ๑๖ กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าเรากินพืชผักโดยตรงก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยรักษาชีวิตพืชไว้ได้มากกว่า 

        ความเชื่อ - คนที่กินมังสวิรัติมีแต่คนซูบผอมอ่อนแอ
        ความจริง - เรื่องนี้สื่อกระแสหลักอาจจะไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน มีนักกีฬาระดับสุดยอดของโลกหลายคนที่กินมังสวิรัติ มีทั้งนักกีฬาประเภทที่ต้องใช้กำลัง ใช้ความเร็ว หรือใช้ความแข็งแกร่งทนทานของร่างกาย เราไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อ นม ไข่เพื่อมาสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกายเลยแม้แต่น้อย

        ความเชื่อ - มนุษย์กินสัตว์เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ กินกันมาแล้วหลายพันปี ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาอย่างนี้อยู่แล้ว
        ความจริง - เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ๒ - ๒.๕ ล้านปีก่อนก็กินเนื้อ แต่กินเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น โดยเฉพาะในยุคที่มีสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้วซึ่งมนุษย์ไม่สามารถหาอาหารที่เป็นพืชได้เลย แต่ทว่า มีหลักฐานอันชัดเจนที่ยืนยันว่ามนุษย์นั้นเหมาะแก่การกินพืชมากกว่า ธรรมชาติของสัตว์กินเนื้อนั้นมีกรงเล็บที่แหลมคม ฟันเขี้ยวยาวและคม ลำไส้สั้น ในขณะที่มนุษย์มีเล็บที่เรียบและอ่อน มีฟันเขี้ยวที่เล็กจนน่าเอ็นดู เหมาะสำหรับขบกัดผลไม้มากกว่ากัดฉีกเนื้อหนัง ฟันกรามของมนุษย์ค่อนข้างเรียบ ลำไส้สำหรับย่อยอาหารมีความยาวมาก ซึ่งเหมาะสำหรับย่อยพืชผัก ผลไม้ และธัญพืช การกินเนื้อมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากต่อปัญหาการเจ็บป่วยหลาย ๆ โรค เช่น เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke) โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น ถ้าหากว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทำไมเราจึงเหมือนถูกฆ่าให้ตายทีละน้อยด้วยการกินเนื้อเล่า?

        ดร. วิลเลียม ซี โรเบิร์ตส์ บรรณาธิการวารสาร The American Journal of Cardiology ได้ชี้ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า "แม้ว่าเราจะคิดว่าเราเป็นพวกกินเนื้อ พฤติกรรมของเราที่แสดงออกมาก็เหมือนกับพวกกินเนื้อ แต่การที่พวกเราฆ่าสัตว์แล้วกินเนื้อพวกมัน สุดท้ายแล้วเรากลับถูกฆ่าให้ตายด้วยเลือดเนื้อของสัตว์ที่เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล... เนื้อสัตว์ไม่ได้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ซึ่งกินพืชโดยธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิม" นอกจากนี้ มนุษยชาติสามารถตัดสินชะตากรรมตนเองได้ว่าเรามีความจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์หรือไม่ ในเมื่อเราสามารถได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการทั้งหมดจากพืชเท่านั้น แสดงว่าเราไม่จำเป็นต้องสังเวยสุขภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมของโลกด้วยการฆ่าชีวิตสัตว์หลายพันล้านชีวิตในแต่ละปีเลย

        ความเชื่อ - อาหารมังสวิรัติไม่ค่อยมีอะไรให้กิน
        ความจริง - อาหารมังสวิรัติมีความหลากหลายมากกว่าอาหารเนื้อสัตว์ เราสามารถหาอาหารเมนูเนื้อต่าง ๆ ในเวอร์ชั่นที่เป็นมังสวิรัติหรือเนื้อเทียมได้หมด ตลอดจนน้ำนมธัญพืช ชีส มายองเนส ขนมปัง เค้ก ช็อคโกแลต ทุกวันนี้มีขายแบบที่เป็นมังสวิรัติแล้วทั้งนั้น ลองค้นหาคำว่า "vegan recipe" ในอินเตอร์เน็ตดูจะพบสูตรอาหารมังสวิรัติเยอะมาก มีทั้งข้อมูลวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพและการปรุงแบบต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนใคร แต่ในอดีตเมื่อสิบปีก่อน ชาวเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศจีน อาจจะรู้สึกว่ากินมังสวิรัติหาของกินได้ยาก แต่ปัจจุบันมีร้านอาหารมังสวิรัติอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ร้านที่ไม่ใช่ร้านมังสวิรัติก็เริ่มที่จะมีเมนูแบบ vegan ให้เลือกกินบ้างแล้ว ลองค้นหาในเว็บ dianping (大众点评 เว็บรีวิวร้านอาหารของจีน) ดูสิ จะพบว่าเฉพาะในเมืองปักกิ่งเมืองเดียวก็มีร้านอาหารที่อยู่ในหมวด "มังสวิรัติ" มากถึง ๑๒ หน้าของผลการค้นหาเลยทีเดียว

        ความเชื่อ - ถ้าทุกคนเลิกกินเนื้อสัตว์กันหมด สัตว์ที่ถูกเลี้ยงจะต้องสูญพันธุ์
        ความจริง - กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้สัตว์หลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว เช่น ตัวนิ่ม เสือ หมีขั้วโลก วาฬ ฉลาม เป็นต้น การสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้จะทำลายความสมดุลของระบบนิเวศน์ เกิดเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปจนทำให้ชนิดพันธุ์อีกมากตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย แต่ปศุสัตว์ที่ถูกมนุษย์เลี้ยงดูนั้นอยู่ในเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป บทบาทของพวกมันในระบบนิเวศน์คือส่งผลในทางทำลายระบบ ลองนึกถึงทุ่งหญ้าที่ถูกใช้เลี้ยงสัตว์อย่างมากเกินไปสิ แม่น้ำและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนมูลสัตว์ ปศุสัตว์จำนวนมากถูกปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อให้พวกมันเติบโตได้เร็วขึ้น หมูในฟาร์มจะตัวโตผิดปกติ จนมีปัญหาเจ็บปวดที่ขาและเท้าตั้งแต่อายุยังไม่เท่าไร ในขณะที่ญาติที่เป็นบรรพบุรุษของมันคือหมูป่าจะไม่มีปัญหาแบบนี้เลย วัวนมที่ถูกรีดนมมากเกินไป ร่างกายของมันถูกใช้ประโยชน์อย่างหนัก เพียงไม่กี่ปีก็พัง หมดสภาพ มีไก่จำนวนมากที่ต้องตายระหว่างทางขนส่งไปโรงฆ่าเนื่องจากป่วยเป็นโรคหัวใจและกระดูก ชนิดพันธุ์สัตว์เหล่านี้ที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เกิดแล้วว่าต้องทนทุกข์ทรมาณไปตลอดทั้งชีวิต และการสูญพันธุ์ของพวกมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเสียใจแต่อย่างใด

        ความเชื่อ - การหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปทั้งหมดเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเรายังต้องทำความเบียดเบียนสัตว์อยู่โดยไม่มีเจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วการกินมังสวิรัติจะมีความหมายอะไร?
        ความจริง - การที่เราจะมีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์เลยนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอยู่พอสมควร เราอาจจะเหยียบมดตายหรือหายใจเอาแมลงตัวเล็ก ๆ เข้าไปในตัวได้โดยไม่ตั้งใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะมีเจตนาสร้างความเบียดเบียนขึ้นโดยไม่จำเป็น เวลาขับรถเราอาจจะขับไปชนโดนคนเข้าโดยไม่เจตนา แต่เรื่องนี้ไม่สามารถเอามาเป็นเหตุผลให้เราอ้างเพื่อจะขับรถชนคนอย่างมีเจตนาได้ เรามีสิทธิ์และสามารถเลือกที่จะกินอาหารหรือใช้ของใช้ที่ไม่มีสัตว์เป็นองค์ประกอบได้

        ความเชื่อ - การกินมังสวิรัติจะส่งผลกระทบต่อประเพณีและงานที่ต้องใช้สัตว์เลี้ยง
        ความจริง - การสร้างรถยนต์ การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการเกิดขึ้นของอีคอมเมิร์ซ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการปฏิรูปด้านอาชีพและการพัฒนาฝีมือแรงงานใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันคือพัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เหตุที่จะมาขวางกั้นการพัฒนา


ที่มา http://ss.zgfj.cn/SSZX/2017-08-16/17744.html

11 ต.ค. 2560

กินมังสวิรัติแล้วเพื่อนไม่คบจริงหรือ?




        การคบหาสมาคมกันของชาวจีนมักจะแสดงออกผ่านการกินเป็นสำคัญ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าการกินมังสวิรัติจะกระทบต่อความสัมพันธ์ในทางสังคม กลัวจะถูกมองว่าเป็นพวกแปลกประหลาด จริง ๆ แล้วความกลัวเหล่านั้นเป็นการกลัวเกินกว่าเหตุทั้งสิ้น 

        ในฐานะ "คนกลุ่มน้อย" ของสังคม ชาวมังสวิรัติคือผู้ที่ต้องการมีวิถีชีวิตในแบบที่แตกต่างออกไปตามความปรารถนาของตน จึงต้องได้รับแรงเสียดทานด้านต่าง ๆ จากสังคมบ้าง แตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้น นักมังสวิรัติจึงต้องใช้ทั้งความรักและความอดทนพอสมควรต่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ยังไม่เข้าใจทางเลือกในชีวิตของตน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ๆ สักวันหนึ่งญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็คงจะเข้าใจได้แน่นอน เพราะโดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว เหตุผลที่พวกเขาไม่เข้าใจเรานั้น ส่วนใหญ่เกิดจากฐานของความรักความห่วงใยที่เขามีต่อเรา ต่อเมื่อพวกเขาได้เห็นด้านที่สว่างของการกินมังสวิรัติในตัวเราแล้ว ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเอง 

        ในประเทศจีน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมักจะแสดงออกผ่านทางการ "กิน" เป็นส่วนใหญ่ แม้ในปัจจุบันจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่ามังสวิรัติเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ แต่หลายคนยังกังวลใจอยู่ว่าการกินมังสวิรัติจะมีผลกระทบต่อการสังสรรค์กันในสังคม กลัวจะถูกมองว่าเป็นพวกแปลกแยก กลัวเสียเพื่อน เสียโอกาสทางการค้า ความกังวลใจแบบนี้ก็มีเหตุผลพอเข้าใจได้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการกลัวกังวลเกินความเป็นจริงไปมาก 

        จากประสบการณ์ในการกินมังสวิรัติมาหลายปีของตัวผู้เขียนเอง คนที่ไม่กินมังสวิรัติส่วนใหญ่ก็ยอมคบกับคนกินมังสวิรัติเป็นเพื่อนได้ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ในวงการธุรกิจและการค้านั้น คนที่เป็นนักมังสวิรัติมักจะได้รับความเชื่อถือจากคนอื่นง่ายกว่า ก็ในเมื่อแม้แต่สัตว์เราก็ไม่อยากจะไปทำร้ายเขา ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเจตนาไปทำร้ายคนด้วยกันเอง

        ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติหรือไม่เป็นมังสวิรัติ อันที่จริงก็เป็นเพียงทัศนคติในการกินอาหารที่แตกต่างกันเท่านั้น อาหารที่คนที่ไม่เป็นมังสวิรัติเห็นว่ามีคุณค่ามากที่สุดนั้น ในมุมมองของคนที่เป็นมังสวิรัติอาจจะเห็นตรงกันข้ามได้ แต่ถ้าทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด คบหาสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยความจริงใจอย่างที่สุด ก็จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ได้อย่างแน่นอน ตัวผู้เขียนเองมีเพื่อนเยอะมาก และส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ไม่กินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถคบหากันอย่างจริงใจได้ ปกติเวลาออกไปข้างนอกกับเพื่อน เรื่องอาหารการกินแม้จะมีความไม่สะดวกบ้างในบางครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากมายอะไร

        มาถึงในยุคนี้ เป็นยุคที่มีการโชว์ตัวตนความเป็นอินดี้กันอย่างครึกโครม มังสวิรัติก็ได้กลายเป็นกระแสที่แพร่ออกไปทั่วโลกแล้ว เดี๋ยวนี้การกินมังสวิรัติเป็นเรื่องที่สะดวกขึ้นมาก ที่ฮ่องกงและไต้หวัน แทบไม่มีใครที่จะมองนักมังสวิรัติเป็นคนแปลกประหลาดอีกแล้ว ไม่มีใครจะทำให้คุณรู้สึกแปลกแยกอีกแล้ว ยิ่งประเทศในชาติตะวันตกก็ยิ่งแล้วใหญ่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าในอีกไม่นาน เมื่อแนวคิดเรื่องมังสวิรัติได้หยั่งลึกลงไปในใจของผู้คนมากขึ้น กลุ่มชนชาวมังสวิรัติก็จะยิ่งขยายตัวเติบโตขึ้นไปอีกมาก

        อนึ่ง อาหารคือความสุขอย่างหนึ่งของปุถุชน ลาภทางปากของชาวมังสวิรัติในทุกวันนี้มีมากกว่าในอดีตมากมายนัก เพราะมีอาหารเนื้อเทียมสำเร็จรูปให้เลือกกินหลายอย่าง ทั้งเนื้อไก่เจ ปลาเจ ฯลฯ เนื้อเจสมัยนี้มีรสชาติคล้ายเนื้อจริง ๆ มาก และมีรูปแบบต่าง ๆ ให้เลือกอย่างหลากหลาย เป็นความสะดวกสบายสำหรับพ่อครัวแม่ครัวประจำบ้านที่จะซื้อหามาปรุงเป็นอาหารในครอบครัว ข้าพเจ้าคิดว่าคุณค่าของผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมเหล่านี้อยู่ที่การไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตสัตว์ และยังคงปรุงเป็นอาหารรสเลิศได้เหมือนเนื้อจริง ๆ ด้วย


ที่มา http://ss.zgfj.cn/SSZX/2017-08-28/17768.html

9 ต.ค. 2560

ชีวิตที่เปลี่ยนไปกินมังสวิรัติ



        ใกล้จะครบสามเดือนแล้วที่ฉันได้เลิกกินเนื้อสัตว์ บางคนคิดว่าฉันเลิกเนื้อสัตว์เพื่อรักษาสุขภาพ บางคนก็คิดว่าฉันต้องการรักษารูปร่างไม่ให้ดูอ้วน แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นคือการได้พัฒนาจิตใจที่มีเมตตาในฐานะสาวกของพระพุทธเจ้า ให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น มันเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่าเราไม่ควรเบียดเบียนเอาชีวิตสัตว์เหล่านั้นมาเป็นอาหารเพื่อเสพรสความอร่อยที่เป็นความสุขอยู่แค่ชั่วคราวเท่านั้น เราไม่ควรเห็นแก่ความสุขส่วนตัวด้วยการพรากเอาชีวิตลูกหรือชีวิตพ่อแม่ของสัตว์เหล่านั้นมาเลย

        ตอนเป็นเด็กฉันเคยเห็นเขาฆ่าเป็ดฆ่าไก่อยู่บ่อย ๆ ตอนนั้นฉันมักจะชอบนั่งดูอยู่ข้าง ๆ เห็นเขาเชือดคอมันก่อน แล้วปล่อยให้เลือดไหลออกมา ระหว่างนั้นมันจะยังคงดิ้นกระเสือกกระสนอยู่ จนเลือดไหลออกมาหมดแล้วเขาก็จับมันแขวนไว้สักพัก จนร่างมันหยุดนิ่งไม่ดิ้นกระตุกอีกแล้ว จึงนำไปลวกด้วยน้ำเดือด ถอนขน ควักเอาไส้และเครื่องในออก... ในสมัยนั้นฉันยังไม่รู้สึกหรอกว่ามันเป็นการทารุณอะไร แถมยังคอยเฝ้าดูอย่างสนอกสนใจอีกด้วย พอได้ยินว่าเพื่อนบ้านหลังไหนจะเชือดเป็ดเชือดไก่ฉันก็มักจะวิ่งตามไปดูอยู่เสมอ ๆ

        พอโตขึ้นและได้มีวาสนามาพบกับศาสนาพุทธ จึงได้เริ่มเรียนรู้เหตุผลของการเกิดมาเป็นมนุษย์ทีละเล็กทีละน้อย คำสอนที่มีอิทธิพลต่อฉันมากที่สุดคือ ต้องทำกุศลให้มาก มีจิตของผู้ให้ที่ไม่เห็นแก่ตัว มีเมตตา ช่วยเหลือคนให้เป็นสุข เรียนรู้การยอมรับผิดและสำนึกบาป และก็แน่นอน ฉันเข้าใจดีว่าทำไมพระอาจารย์ที่วัดและอุบาสกบางท่านจึงกินมังสวิรัติกันเป็นปกติ

        ส่วนตัวฉันเองนั้นมีความรู้สึกยินดีเสมอในการทำกุศล แม้ว่าในชีวิตเรายังจะต้องเจอเรื่องผิดหวังต่าง ๆ นานาอีกมาก มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่เราทำดีแล้วถูกตอบแทนกลับมาในทางตรงกันข้าม แต่เรื่องแบบนี้ก็ไม่เคยสั่นคลอนทัศนคติในการทำบุญกุศลของฉันเลย ไม่เหมือนบางคนที่มีศรัทธาในศาสนาก็เพื่อความปรารถนาบางอย่าง เช่น บางคนเชื่อว่า "คนทำดีย่อมได้ผลดีตอบแทน" จึงหวังว่าเมื่อตนทำกุศลบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วสักวันหนึ่งจะร่ำรวยขึ้นมาได้ หรือบางคนมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย พอได้รับคำแนะนำมาจึงไปทำกุศลเพื่อสั่งสมเป็นอานิสงส์และหวังว่ามันจะกลายเป็นปาฏิหาริย์มาช่วยคนป่วยให้หายจากโรคได้ แต่ความเชื่อและการทำกุศลของฉันไม่ได้มีเป้าหมายอย่างนั้น ฉันเพียงแต่ต้องการที่จะให้และสละออกไปเท่านั้น ฉันคิดว่าการทำดีน่าจะสามารถสร้างความยินดีและเป็นสุขให้แก่ทุกคนได้ สามารถลดความทุกข์และความไม่สบายใจของทุกคนได้ ฉันไม่ได้ต้องการแลกเปลี่ยนหรือมีความโลภอยากได้สิ่งใดมาตอบแทน

        เดิมทีที่บ้านฉันก็กินทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักปน ๆ กันไปเหมือนคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้พ่อกับแม่ยังเป็นคนที่ไม่ค่อยเสียดายเงินทองกับเรื่องอาหารการกินเสียด้วย ทั้งเป็ด ไก่ ปลา และเนื้อ เราจะมีกินกันแทบทุกวัน แถมยังเลือกซื้อแต่ของดี ๆ ทั้งนั้นด้วย ช่วงนั้นแม้ว่าฉันจะได้นับถือศาสนาพุทธแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้คิดอะไรมากในเรื่องนี้ คือเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะซื้อมาแบบยังไม่ตายหรือแบบที่ตายแล้วเราก็กินทั้งหมด แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีเหตุให้ได้รับคำชี้แนะจากพระอาจารย์ที่วัดว่าอย่ากินแบบที่ต้องฆ่าสด ๆ ถ้าจะกินจริง ๆ ก็ควรเลือกกินสัตว์ที่ไม่มีเลือด เช่นพวกกุ้งเป็นต้น หลังจากนั้นเราก็แทบไม่ได้ซื้อสัตว์แบบเป็น ๆ กลับมาฆ่าเองที่บ้านอีกเลย ถ้าไม่ซื้อแบบที่ตายอยู่ก่อนแล้วก็จะสั่งเอาไว้แล้วจ่ายเงินไปก่อน รอเขาฆ่าเสร็จแล้วค่อยกลับมาเอาอีกที (จริง ๆ แล้วฉันก็คิดอยู่เสมอว่าทำแบบนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าเองอยู่ดี) ถึงแม้ว่าฉันจะเริ่มมีจิตสำนึกถึงความเมตตาเอ็นดูสัตว์ขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม คือเห็นพวกมันตายแล้วถูกเอาไปปรุงเป็นอาหารก็รู้สึกอยู่บ้างว่าไม่สบายใจ แต่ฉันก็ยังติดรสอร่อยอยู่จึงไม่ยอมเลิกกินมัน ตอนนั้นคิดไม่ออกเลยว่าจะไม่กินเนื้อได้อย่างไร ฉันคงทำไม่ได้แน่ ๆ

        มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อพาฉันไปเที่ยวบ่อตกปลา ตอนเที่ยงเราสั่งให้เขาทำเนื้อห่านน้ำแดงมาหนึ่งจาน ได้ยินเขาบอกว่าเป็นห่านที่เลี้ยงมานานสองปี ทำมาได้รสชาติดีมาก อร่อยมาก พอตอนบ่ายขณะกำลังตกปลากันอยู่ เห็นเป็ดฝูงหนึ่งว่ายน้ำผ่านมา ตามมาด้วยห่านอีกฝูงหนึ่ง พอพวกเป็ดมันเห็นห่านว่ายตามมาเท่านั้นก็ว่ายหนีกันใหญ่ ห่านก็ว่ายไล่ตามไปติด ๆ ฉันเห็นแล้วก็ขำดี นึกในใจว่าคงเป็นเพราะห่านมันตัวใหญ่กว่าเป็ดมากจึงทำให้เป็ดกลัวพวกมัน คิดไม่ถึงว่าระหว่างพวกสัตว์ด้วยกันเองก็ยังมีการใช้อำนาจข่มเหงรังแกกันด้วย ฉันยังสังเกตเห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นฝูงห่านหรือฝูงเป็ดล้วนมีตัวที่ใหญ่ที่สุดเป็นผู้นำของตัวอื่น ๆ ที่เล็กกว่า ตัวที่ใหญ่ที่สุดนั้นน่าจะเป็นแม่ของพวกมัน ทำให้ฉันนึกถึงตอนเป็นเด็กที่บ้านเราก็เคยเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เหมือนกัน จำได้ว่าพอเราเปิดประตูเล้าออกแล้วร้องบอกพวกมันให้รู้เท่านั้น แม่ไก่ก็จะเดินนำลูก ๆ ออกมาหาอาหารกิน คราวนั้นมีเด็กคนหนึ่งอยากจะเข้าไปลูบตัวลูกไก่เล่น พอแม่ไก่เห็นเข้าก็พุ่งออกมาจะจิกเขาทันที

        ภาพในความทรงจำเหล่านี้ทำให้ฉันเข้าใจเป็นครั้งแรกว่า สัตว์ก็มีความรู้สึกผูกพันกับครอบครัวเครือญาติของมันเหมือนกับคน ตอนนั้นเองที่ฉันคิดถึงห่านตัวที่ฉันเพิ่งกินลงไปในท้อง คิดถึงตอนที่มันถูกฆ่าว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร มันกลัวมั้ย? เคียดแค้นมั้ย? ห่วงหาอาวรณ์ลูก ๆ ของมันมั้ย? แล้วลูก ๆ ของมันที่เห็นแม่ของตัวเองต้องถูกฆ่าล่ะ พวกมันจะรู้สึกอย่างไร พวกมันพูดไม่ได้ และเราก็ไม่รู้ว่าพวกมันคิดอะไรอยู่ คนจำนวนมากอาจจะรู้สึกแค่เพียงว่าไม่ใช่เราเสียหน่อยที่ต้องถูกฆ่า แล้วจะคิดมากให้มันเปลืองสมองไปทำไม แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉันจมอยู่ในความคิดนานพอสมควรทีเดียว นับตั้งแต่นั้นมาฉันจึงได้ขอร้องกับคนในบ้านว่าเวลาไปซื้ออาหารอย่าซื้อสัตว์เป็น ๆ มาอีกเลย 

        ในช่วงเวลาสองปีมานี้ฉันได้ฝึกสร้างนิสัยการออกกำลังกายให้เป็นประจำ ปกติจะวิ่งไปตามถนนหลังบ้านที่ร่มรื่น และมักจะได้เห็นฝูงเป็ดที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เดินผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ เป็ดตัวใหญ่เดินนำหน้า เป็ดตัวเล็ก ๆ เดินตาม ส่ายก้นไปมาดุกดิกและมองหาอาหารกิน ทุกครั้งที่เห็นพวกมันฉันก็อดที่จะยิ้มไม่ได้ เพราะฉันเห็นไปถึงความสามัคคี เห็นความผูกพันรักใคร่ที่เรียบง่าย แต่พอนึกถึงจุดจบในชีวิตของพวกมันที่จะถูกยกขึ้นไปเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารแล้ว ฉันจะเกิดความรู้สึกสลดใจขึ้นมาอย่างอธิบายไม่ถูก รู้สึกว่าความสุขสั้น ๆ นี้มันช่างโหดร้าย สู้อย่าเอาพวกมันมาเลี้ยงดูเสียเลยจะดีกว่า

        ช่วงหนึ่งที่ฉันได้ไปร่วมทำงานที่ศูนย์บริการโลหิต ได้รู้จักกับอาสาสมัครที่มีประสบการณ์สองท่านคืออาจารย์ข่งกับพี่วัง พวกเขาเป็นนักปฏิบัติธรรมที่มีความตั้งใจเอาจริงมาก และยังเป็นนักมังสวิรัติแบบเคร่งครัดด้วย พวกเขาคุยกับฉันในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธเยอะมาก รวมถึงเรื่องมังสวิรัติด้วย บอกตามตรงเลย ตอนนั้นฉันเห็นด้วยอย่างมากในเรื่องของการทำกุศลและการทำดีให้แก่โลก แต่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยเรื่องการกินมังสวิรัติ ถึงแม้ว่าฉันจะนับถือพวกเขามากที่สามารถทำได้ แต่ตัวฉันเองไม่เคยคิดเลยจริง ๆ ว่าจะเดินตามเส้นทางนี้อย่างพวกเขาได้

        แต่สุดท้ายฉันก็เดินมาตามทางนี้มาจนได้ กลายเป็นนักมังสวิรัติไปกับเขาด้วย เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าได้อานิสงส์มาจากการแนะนำของอาจารย์ข่งและพี่วังจริง ๆ และทำให้ได้เข้าใจธรรมะข้อหนึ่งอย่างลึกซึ้งว่า "อยู่ใกล้ชาดก็ติดแดง อยู่ใกล้น้ำหมึกก็ติดดำ" หลาย ๆ ครั้งที่เราจะถูกเหนี่ยวนำไปตามหมู่กลุ่ม ถ้าเราอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ดี ไม่มีศีลธรรม ต่อให้ในใจเราไม่อยากทำตามพวกเขา ก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาบ้าง หรืออาจเผลอตัวถลำลึกไปมากจนถึงขั้นถอนตัวไม่ขึ้นก็เป็นได้ ตรงกันข้าม ถ้าเราอยู่ในกลุ่มคนดีมีศีลธรรม ก็ต้องได้รับการซึมซาบเอาสิ่งดี ๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย 

        อาหารที่ฉันกินอยู่ตอนนี้เป็นมังสวิรัติแบบที่ยังกินไข่และนมอยู่ (ovo-lacto vegetarian) คือไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด ทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ แต่ยังกินไข่และนมตามปกติ ฉันรู้สึกว่าตอนนี้เอาแค่นี้ก็พอแล้ว คือยังสามารถรักษาสมดุลของโภชนาการไว้ได้ และไม่ผิดต่อศรัทธาความเชื่อของตนเองด้วย ฉันปฏิบัติเรื่องการกินอาหารแบบนี้มาจนได้เป็นนิสัยแล้ว ตอนนี้รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงมาก ช่วงนี้ยังฝึกกายบริหารสร้างกล้ามเนื้อด้วย ถึงแม้ว่าครั้งนี้มันจะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของฉันก็ตาม แต่ฉันก็อยากจะบอกทุกคนด้วยว่าฉันเองก็เป็นแค่คน ๆ หนึ่ง ขึ้นชื่อว่าคนก็ย่อมจะไม่สมบูรณ์แบบ ฉันเองก็ยังมีข้อเสียมากมาย เช่น บางครั้งก็หงุดหงิด บางครั้งก็ประมาทเลินเล่อ ...

        ฉันคิดว่าคนเราควรเรียนรู้ที่จะมีความพอในการเสพสุขของตนเอง แต่ในการแสวงหาสัจธรรมและพัฒนาชีวิตให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นนั้น เราควรจะพากเพียรเรียนรู้ไปอย่างไม่ยอมที่จะเบื่อ ถ้าอยู่จนแก่ก็จะเรียนรู้ไปจนแก่เหมือนกัน ฉันไม่คิดว่าการชักชวนคนอื่นให้มายอมรับทัศนคติของฉันด้วยการพูดโน้มน้าวโดยตรงจะได้ผลดีเท่าไร ฉันเพียงแต่หวังว่าจะเป็นอย่างอาจารย์ข่งและพี่วังที่มีอิทธิพลต่อตัวฉันได้ ด้วยการแสดงพลังงานแห่งสัจจะอย่างเต็มเปี่ยมนี้ออกไป ให้แผ่ออกไปสู่คนรอบข้างโดยไม่ต้องมีเจตนาอะไร ให้มันผสานสอดคล้องไปกับความดีในจิตใจของทุกคน และร่วมมือร่วมแรงพยายามเปลี่ยนโลกใบนี้ไปด้วยกัน
 

ที่มา http://ss.zgfj.cn/JSCS/2016-11-29/17169.html

7 ต.ค. 2560

อายุสั้น มีโรคมากเกิดจากอะไร



        ปกติเมื่อคนตายแล้วก็จะถูกฝังไว้ในสุสาน คนที่กินเนื้อสัตว์ กินปลา กินแล้วก็เข้าไปอยู่ในท้อง ท้องก็เลยกลายเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น เราเอาซากศพของสัตว์มาฝังไว้ในท้องของเราเอง เธอว่ามันสกปรกไหม ถูกอนามัยไหม เดี๋ยวนี้ยังมีคนกินงู กินแมวอีก มันเหลือเชื่อจริง ๆ ... เมื่อสัตว์ถูกกินเข้าไปในท้อง วิญญาณพยาบาทของมันก็ตามเข้าไปอยู่ในท้องด้วย ถึงวันหนึ่งมันจะตามมาทวงหนี้ เอาชีวิตของมันคืน แล้วท่านจะเกรงกลัวบ้างมั้ยล่ะ

        มีอุบาสกหลายท่านมาปรับทุกข์กับพระอาจารย์ อาตมาขอนำเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นมาเล่าสู่ฟังกันบ้าง หวังว่าท่านทั้งหลายจะหันมาตรวจสอบตัวเอง เพื่อให้มีความสำนึกผิด บำเพ็ญเพียรสร้างกุศล ดีชั่วนั้นอยู่ที่ตัวทำ อย่าโทษฟ้าโทษดินหรือโทษผู้อื่นแม้แต่น้อย ถ้าใครเจ็บป่วยชนิดที่ทั้งแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันก็รักษาไม่หาย อันนั้นก็ถือว่าเป็น "โรคกรรม" ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเข้ามาสู่เราทางปาก เกิดจากการกิน ถ้าอย่างนั้นเราควรจะสำนึกผิดอย่างไร บำเพ็ญกุศลอย่างไรดีล่ะ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องกินมังสวิรัติและถือศีลปฏิบัติธรรม เอาเฉพาะที่ปากนี่ก็ไม่รู้ว่าได้สร้างวิบากกรรมไว้เท่าไร ได้ก่อเวรไว้เท่าไรแล้ว



        คิดดูสิ เอาแค่ในเมืองไทเปเมืองเดียวนี่มีโรงฆ่าสัตว์เท่าไร แต่ละวันไม่รู้ว่าต้องฆ่าวัว ฆ่าหมู ฆ่าปลากี่ร้อยตัว เป็ด ไก่อีกกี่พันตัว สัตว์เหล่านี้ถูกฆ่าเพื่อใครกันล่ะ ไม่ใช่ฆ่าให้คนที่จะกินหรอกหรือ แล้ววิบากกรรมเหล่านี้ใครต้องมารับไปล่ะ คนฆ่าหรือ? เราควรจะรู้ว่าถ้าเราไม่กิน สัตว์ที่ถูกฆ่าวันนี้ก็จะไม่มีคนซื้อ วันต่อ ๆ ไปเขาก็จะไม่ฆ่าแล้ว เหตุที่เขาฆ่าก็เพราะว่าเราจะกิน พวกเราจึงได้ร่วมกันสร้างวิบาก มีส่วนในบาปด้วยกันทั้งสิ้น เราในฐานะสาวกของพุทธศาสนาควรจะตระหนักรู้ในเรื่องนี้กันได้แล้ว

        โบราณว่า "น้ำซุปในถ้วยนั้น หมุนวนอยู่ด้วยแรงพยาบาทนับร้อยนับพันปี ลุ่มลึกรุนแรงดั่งคลื่นใหญ่ในมหาสมุทร ถ้าอยากรู้ว่าโลกนี้มีการปล้นฆ่าด้วยคมมีดกันที่ไหน ให้เงี่ยหูสดับฟังเสียงจากโรงฆ่าสัตว์ในยามค่ำคืนดูสิ" ทำไมโลกนี้จึงมีการปล้นฆ่าด้วยคมมีด ส่วนใหญ่ก็มาจากปากที่อยากจะกินนี่แหละ ใครทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น จะทำคนเดียว ทำทั้งครอบครัว หรือทำทั้งประเทศก็เหมือนกัน ธรรมะของศาสนาพุทธสอนเรื่องวิบากกรรม ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม สัจจะก็ยังเป็นสัจจะอยู่เช่นนี้แหละ

        โดยทั่วไปสาวกของศาสนาพุทธจะมีฐานจิตแห่งเมตตา มักจะเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตสัตว์ทั้งหลาย เพียงแค่กินมังสวิรัติก็สามารถช่วยชีวิตสัตว์ได้นับร้อยนับพันชีวิตแล้ว คนที่ไม่กินมังสวิรัตินั้น วันนี้เขากินปลา พรุ่งนี้กินเนื้อ กินสะสมไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งชีวิตไม่รู้ว่าได้กินชีวิตอื่นไปเท่าไร โดยทั่วไปเรารู้กันดีถึงพิษร้ายของเสือ ของงู แต่ว่าเสือหนึ่งตัวจะกัดคนตายได้กี่คน งูพิษจะกัดคนตายได้กี่คน พูดกันจริง ๆ แล้วคนที่ไม่กินมังสวิรัติไม่รู้ว่าจะมีพิษร้ายยิ่งกว่าเสือ ยิ่งกว่างูกี่เท่า ขอให้เราทุกคนจงอย่าเป็นเสือร้าย อย่าเป็นงูร้ายในหมู่มนุษย์เลย

        ถ้าท่านยังอยากจะกินเนื้อสัตว์ อาตมาจะบอกแก่ท่านว่า ตอนนี้ท่านกินไปอย่างเอร็ดอร่อย แต่เมื่อถึงเวลาต้องชดใช้หนี้กรรม จงอย่าโทษฟ้าโทษดินหรือโทษผู้อื่น เมื่อได้รู้แล้วว่าการฆ่าสัตว์นั้นต้องชดใช้หนี้กรรม เมื่อต้องรับผลต่าง ๆ เช่น มีโรคมาก อายุสั้น และตายไปยังต้องไปชดใช้ต่อในนรกอีก จึงขอเตือนทุกท่านให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์และกินมังสวิรัติเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผลกรรมอันเป็นทุกข์ในภายหน้า 


เขียนโดย 妙莲老和尚
ที่มา http://rufodao.qq.com/a/20170913/041048.htm

2 ต.ค. 2560

การถือศีลกินมังสวิรัติของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้




        จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (梁武帝 ค.ศ. ๔๖๔ - ๕๔๙) เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์เหลียงในสมัยหนานเป่ย (ยุคราชวงศ์เหนือใต้) ครองราชบัลลังก์อยู่ ๔๘ ปี ยาวนานที่สุดในสมัยหนานเป่ย และสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา

        พระเจ้าจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ทรงพระปรีชาสามารถด้านภาษา กวี การดนตรี และศิลปะการเขียนพู่กันจีน เป็นนักวิชาการที่มีความรู้กว้างขวาง มักจะคบหากับปัญญาชน มีผลงานโดดเด่นด้านวรรณกรรมและศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เคยปวารณาตนเป็นผู้รับใช้ในวัดถึงสี่ครั้ง มีศรัทธาในพุทธธรรม บำรุงพระพุทธศาสนา พระองค์ไม่เพียงแต่ปฏิบัติศีลละเว้นการฆ่าชีวิตสัตว์ ยังเสวยอาหารมังสวิรัติอย่างตั้งมั่น และอาศัยฐานะแห่งความเป็นจักรพรรดินำพาประชาราษฎร์ให้ถือศีลละเว้นการฆ่าสัตว์และกินอาหารมังสวิรัติด้วย จนเป็นยุคหนึ่งที่ชาวจีนเริ่มกินอาหารมังสวิรัติกันอย่างแพร่หลาย


        ในพระนิพนธ์บทหนึ่งของพระองค์คือ "โศลกชำระกรรม" (净业赋) ได้เล่าย้อนรำลึกถึงกรรมในอดีตสมัยที่พระองค์ยังพระเยาว์ว่า ครั้งหนึ่งได้เคยฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารเลี้ยงต้อนรับทหาร วันละสามมื้อ มีทั้งเนื้อและปลามากมาย และต่อมาเมื่อได้เสวยราชบัลลังก์เป็นพระจักรพรรดิแล้ว ได้ทรงจัดเลี้ยงอาหารอย่างประณีตแก่ข้าราชบริพารอีกนับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อมานับถือศาสนาพุทธแล้ว การได้เห็นชีวิตสัตว์ที่ถูกฆ่าตั้งอยู่บนโต๊ะอาหารอย่างมากมายทำให้เกิดความสลดใจจนทนไม่ได้ นับแต่นั้นมาพระองค์จึงตัดสินใจเลิกเสวยปลาและเนื้อ ถือการเสวยแต่อาหารพืชผักเป็นประจำ

        นอกจากนี้ ในพระนิพนธ์เรื่อง "งดเว้นเหล้าและเนื้อ" (断酒肉文) พระเจ้าจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ได้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและความตั้งใจมั่นที่จะเลิกดื่มสุราและเสวยเนื้อสัตว์ ดังเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า "นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากข้าฯ ดื่มสุรา มีจิตฝักใฝ่ในกามราคะ มีวาจาปดโป้ทุจริต กินเนื้อสัตว์ทั้งปวง รวมถึงน้ำนมและน้ำผึ้ง อีกทั้งก้อนเนย ขอให้เทพเทวามหาภูติทั้งหลาย จงบันดาลทุกข์แก่ตัวข้าฯ และจักต้องไปชดใช้กรรมอีกมากในนรกตราบนานเท่านาน จนแม้สัตว์ทั้งปวงในโลกจะได้พ้นห้วงทุกข์เป็นพุทธะจนหมดสิ้นแล้ว ข้าฯ จะยังคงรับกรรมที่ทำนั้นอยู่ในอเวจี"

        พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ทรงมีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างตั้งมั่น นับตั้งแต่พระองค์ตั้งปณิธานว่าจะงดเว้นสรุาและเนื้อสัตว์ เว้นจากการเสพเมถุน พระองค์ก็ทรงปฏิบัติได้ตามที่ตั้งศีลเอาไว้ ตั้งแต่พระชนมพรรษา ๕๐ พรรษาจนถึงสวรรคต ทรงมิได้ดื่มสุราและไม่เสวยเนื้อ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสตรีเพศอีกเลย พระองค์ได้ยึดมั่นในการปกป้องชีวิตสัตว์และกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ยุ่งกับนางสนมกำนัล ปฏิบัติพระองค์ราวกับเป็นผู้ออกบวช แม้กระทั่งในงานเลี้ยงฉลองของราชสำนัก ท่ามกลางเสนาอำมาตย์มากมาย บนโต๊ะอาหารที่จัดวางด้วยอาหารประณีตชั้นเลิศอย่างมากมาย พระองค์ก็ทรงเลือกเสวยเฉพาะอาหารที่เป็นพืชผักเท่านั้น

        เนื่องจากการกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน จึงมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระเจ้าเหลียงอู่ตี้มีพระวรกายผ่ายผอม เหมือนคนขาดสารอาหาร ทีแรกเหล่าเสนาอำมาตย์ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่เมื่อได้รู้ว่าเกิดจากการเสวยมังสวิรัติแล้ว มีเสนาอำมาตย์จำนวนมากพยายามขอร้องให้พระองค์เลิกเสวยมังสวิรัติ แต่พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ก็มิได้ยอมทำตาม

        ในวัยบั้นปลายของพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ พระองค์ยึดมั่นในการเสวยมังสวิรัติจนเกือบจะถึงขั้นเบียดเบียนตนเอง พระองค์เสวยพระกระยาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อ โดยไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เลยแม้แต่น้อย มีแต่แกงถั่วกับข้าวสวยเมล็ดหยาบเท่านั้น

        นอกจากจะไม่ฆ่าชีวิตสัตว์ด้วยพระองค์เองแล้ว ยังได้เผยแพร่ความคิดในการมีเมตตาเอ็นดูชีวิตสัตว์แก่ราษฎรจีนด้วย ทรงมีพระบรมราชโองการให้ราษฎรลดการฆ่าสัตว์ ในปีที่ ๑๒ ของศักราชหนานเป่ย (ค.ศ. ๕๑๓) พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ทรงมีพระบรมราชโองการว่า ให้เขตตันหยางและหลางหยาเป็นเขตอภัยทาน ห้ามจับหรือฆ่าสัตว์ในเขตนั้น และในปีที่ ๑๖ ของศักราชหนานเป่ย (ค.ศ. ๕๑๗) เดือน ๓ ทรงมีพระบรมราชโองการสั่งห้ามมิให้หมอนำอวัยวะของสัตว์มาทำเป็นยารักษาโรค และยังสั่งห้ามมิให้ปักลวดลายตกแต่งชุดข้าราชการเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ เครื่องเซ่นสรวงในวัดที่ต้องสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ก็ให้เปลี่ยนเป็นรูปที่ปั้นด้วยแป้งแทน และตั้งแต่เดือน ๑๐ ของปีนั้นเป็นต้นไป การเซ่นสรวงบูชาในวัดก็เริ่มใช้ผักผลไม้แทนเนื้อสัตว์อย่างเป็นแบบแผน 

        นอกจากส่งเสริมให้ราษฎรเอ็นดูรักษาชีวิตสัตว์แล้ว ยังกำหนดให้พระภิกษุและนางชีต้องงดเว้นสุราและเนื้อสัตว์ด้วย หากพระและชีไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระองค์จะให้ดำเนินการสอบสวนด้วยกฎหมายบ้านเมือง จะเห็นได้ว่าพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ทรงกำหนดให้พระและชีต้องถือศีลงดเว้นสุราและเนื้อสัตว์อย่างเคร่งครัด และยังยกระดับศีลขึ้นมาเป็นกฎหมายบ้านเมืองเพื่อเป็นกรอบบังคับให้ปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่รู้อยู่ว่ามีพระหรือชีละเมิดข้อห้ามดื่มสุราหรือกินเนื้อสัตว์แล้วยังปกปิด ไม่นำแจ้งแก่ทางการ ก็จะมีความผิดด้วย

        นอกจากจะถือศีลไม่ฆ่าสัตว์และกินมังสวิรัติด้วยพระองค์เองแล้ว พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ยังมีคำสั่งให้อาณาประชาราษฎร์มีเมตตาปล่อยชีวิตสัตว์ด้วย มีบันทึกในประวัติว่า พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ได้ส่งมหาอำมาตย์จางเหวินซิวออกไปตามโรงฆ่าสัตว์ต่าง ๆ และสั่งให้ไถ่ชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่จับมาจากป่า นอกจากนี้ ในช่วงปลายของรัชสมัยพระองค์ได้อุปถัมภ์ให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจำนวนสิบครอบครัวเข้าอยู่ที่เขตฉางมิ่งโจว (ปัจจุบันอยู่ในเมืองหนานจิง) และทุกปีพระองค์จะไถ่ (ซื้อ) ชีวิตสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เช่น ไก่ เป็ด ห่าน หมู นับหลายพันตัว ส่งไปที่หมู่บ้านนี้และสั่งให้ชาวบ้านเลี้ยงดูพวกมันด้วยธัญพืช


ผู้เขียน 通德
ที่มา http://ss.zgfj.cn/JSCS/2017-08-19/17752.html

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...