30 พ.ค. 2561

ทำดีอย่างไรให้ได้ดีเต็ม ๆ



        คนบางคนเมื่อมีปัญหาที่แก้ไม่ตก รู้สึกว้าวุ่นสับสน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็มักจะไปหาหมอดู ไปไหว้ผีไหว้เจ้าเพื่อขอวิธีแก้ไขต่าง ๆ นานา แต่การเสี่ยงทายพยากรณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนอย่างยิ่ง เพราะมันคือการไปกำหนดเรื่องดีเรื่องร้ายให้คนโดยไม่คำนึงถึงกรรมเลย อันที่จริง ชีวิตคนจะดีขึ้นหรือเลวลง ไม่มีเทพเจ้าที่ไหนมากำหนดได้ ล้วนมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น

        ผู้ที่ยังละล้าละลังอยู่ท่ามกลางความสับสน ไม่แน่ใจว่าต้องทำอะไรอย่างไร ควรที่จะถามตัวเองดูว่า เรื่องที่จะทำนั้นเข้ากับศีลธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องชอบธรรมหรือไม่ หรือขัดกับกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่ไปหาคำตอบด้วยการเสี่ยงทาย ถามเทพถามเจ้า ชีวิตเราควรให้กรรมเป็นผู้ลิขิต คือเราเป็นผู้กำหนดเอง อย่าเอาชีวิตไปมอบให้เทพเจ้าทั้งหลายเลย


        สมมุติโลก


        คนญี่ปุ่นชอบให้นาฬิกาเป็นของขวัญกัน เพราะตัวหนังสือที่แปลว่านาฬิกา (钟) กับเงิน (钱) ในภาษาญี่ปุ่นเป็นคำที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน ดังนั้น การให้นาฬิกาจึงเป็นการอวยพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมา แต่ในประเทศจีน กลับเป็นเรื่องต้องห้ามในการให้นาฬิกาเป็นของขวัญ เพราะคำว่า "ให้นาฬิกา" ในภาษาจีนพ้องเสียงกับคำว่า "ถึงที่ตาย" (送终) ถือเป็นเรื่องอัปมงคลของวัฒนธรรมจีน แต่ที่อเมริกาและญี่ปุ่นกลับถือเป็นเรื่องดี เป็นมงคล

        จะเห็นได้ว่า เรื่องดี เรื่องร้าย เป็นมงคล เป็นอัปมงคล ล้วนเป็นเรื่องที่คนเราคิดกันขึ้นมาเอง สมมุติเอาเอง กำหนดกันขึ้นมาผูกมัดตนเองทั้งนั้น

        อันที่จริง เรื่องดีเรื่องร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสี ทิศทาง และตัวเลขเลยสักนิด ดีหรือร้ายล้วนเกิดจากกรรมเป็นเหตุ ถ้าอยากให้เกิดดีก็ต้องมีเหตุดีหรือประกอบกรรมดีมาก่อน


        โลกที่มีรูรั่ว

        มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งเล่าว่า มีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างสามัญชนเพื่อออกไปท่องเที่ยวนอกวัง ปกติฮ่องเต้เมื่ออยู่ในวังก็จะมีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้า จะเอาอะไรก็ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาเป็นอย่างคนสามัญแล้วออกนอกวัง ไม่มีบ่าวไพร่คอยรับใช้ ก็รู้สึกเก้อ ๆ แปลก ๆ อยู่เหมือนกัน 

        วันหนึ่งพระองค์เดินทางมาถึงชนบทแห่งหนึ่ง รู้สึกร้อนและกระหายน้ำ มีชาวนาที่อยู่ข้างทางคนหนึ่งยกน้ำชามาให้ท่านด้วยอัธยาศัยอย่างดี ฮ่องเต้ได้ดื่มน้ำชานั้นแล้วอย่างชุ่มชื่น เมื่อกลับสู่เมืองหลวง ก็มีคำสั่งให้ส่งข้าหลวงไปที่บ้านของชาวนาผู้นั้นเพื่อมอบตำแหน่งยกให้ให้เป็นรางวัล

        เรื่องนี้ถูกร่ำลือเล่าขานออกไปจนถึงหูของบัณฑิตคนหนึ่ง เขารู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจ ยอมรับไม่ได้ จึงได้เขียนกลอนไว้ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งว่า "ทนลำบากพากเพียรมาเป็นสิบปี ยังไม่ได้ดีเท่าถวายชาแค่ถ้วยเดียว"

        หลายปีต่อมา ฮ่องเต้ได้เดินทางมาถึงชนบทแห่งนี้อีกครั้ง พอได้เห็นคำกลอนบทนี้ก็รู้ได้เลยว่าผู้เขียนตัดพ้อถึงเรื่องอะไร พระองค์จึงทรงเขียนคำกลอนต่อไปอีกสองบรรทัดว่า "เขาอาจไม่เก่งกล้าสามารถเหมือนท่าน แต่วาสนาของท่านไม่ดีเท่าเขา"

        โลกมนุษย์มีเรื่องมากมายที่ดูเผิน ๆ เหมือนไม่ยุติธรรม เช่น อำนาจ เงินทอง ลาภ ยศ ความฉลาดความโง่ รูปโฉมงามหรือไม่งาม ความมีโอกาสด้อยโอกาส ฯลฯ ล้วนทำให้คนเรานั้นแตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน นี่เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของโลกที่มีรูรั่ว มีความพร่องอยู่เป็นธรรมดา 

        การที่จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมเสมอหน้ากันทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเข้าใจหลักของ "กรรมใดใครก่อ ผู้นั้นก็ย่อมได้รับ" แล้ว เหตุการณ์คนรวยตกต่ำกลายเป็นยาจก คนจนรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นเศรษฐี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนโลกใบนี้ 

        ดังนั้น ในโลกของกรรม ถึงที่สุดแล้วชะตาชีวิตของแต่ละคนย่อมได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน

        ถ้าชาติที่แล้วเรามีเงินฝาก (กุศลกรรม) ในธนาคารแห่งกรรมมาก่อน ชาตินี้ก็ต้องได้ใช้แน่นอน แต่ถ้าถอนออกมาใช้อย่างเดียวไม่มีฝากเพิ่ม ไม่นานเงินฝากนั้นก็หมดได้ หรือถ้าชาติก่อนเรามีหนี้กรรมสะสมมามาก แน่นอนว่าชาตินี้ต้องเจอความลำบากลำบน แต่ถ้าเริ่มฝากเงินใหม่เสียตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป ดังนั้น เราจึงควรพยายามทำความดีไปเถิด ไม่จำเป็นต้องไปตัดพ้อหรอกว่าโลกมันยุติธรรมหรือไม่

        ทำไมจึงมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ทำความดีแต่กลับไม่ได้ดี นั่นเป็นเพราะกาย วาจา ใจของเขามีรูรั่วที่เป็นจุดบกพร่องอยู่มาก อานิสงส์ของการทำดีจึงมีการรั่วไหลไปเป็นธรรมดา

        เช่นการให้ทาน ถ้าใจไม่ยินดี ไม่เต็มใจที่จะให้ ให้แล้วไปทำให้ผู้รับเขารู้สึกเสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี แม้จะเป็นการทำความดี แต่อานิสงส์ของทานนั้นก็รั่วไหลได้เช่นกัน

        แม้เราจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดีมาไม่น้อย แต่หากว่าเรายกตัวยกตนอยู่ตลอดเวลา โอ้อวดถือดี จนคนอื่น ๆ ไม่พอใจ แถมหมั่นไส้ด้วย ก็แปลว่าอานิสงส์ของการทำดีนั้นได้รั่วไหลออกไปแล้ว

        หรือปกติเราเป็นคนพูดจาดี ทำแต่เรื่องดี ๆ ใจก็คิดแต่เรื่องที่ดี สั่งสมเป็นกุศลมาก็ไม่น้อย แต่พอเจอเรื่องเลวร้ายเข้าหน่อย ก็บ่นตีโพยตีพาย พูดจาว่าร้ายสารพัด โทษฟ้าโทษดิน โทษผู้อื่น แบบนี้อานิสงส์ของการปฏิบัติดีที่ทำมานั้นก็เกิดการรั่วไหลแล้ว

        เปรียบเหมือนเราทำงานหาเงินได้ก็จริงแต่ก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย หรือทำการเพาะปลูกอยู่แต่ก็เดินเหยียบย่ำแปลงพืชผักไปด้วย ลักษณะอย่างนี้ก็คือยังอยู่ในโลกโลกีย์ที่มีความรั่วไหล ยังเป็นสัตว์โลกที่มีความพร่องอยู่

        ดังนั้น เพื่อที่จะอุดรูรั่วเหล่านี้ สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องสำรวมกาย วาจา ใจให้ดี อย่าให้มีกรรมที่เป็นทุจริต ไม่เช่นนั้นมันก็จะมีผลให้อานิสงส์แห่งกุศลที่เราทำแล้วเกิดรั่วไหลออกไปได้


ที่มา http://new.qq.com/omn/20180525/20180525A17B7J.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...