23 มิ.ย. 2560

เหตุใดเราจึงควรฝึกกินอย่างพระบ้าง



        ในประเทศจีน แม้ว่าศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาที่มีคนนับถือไม่มากนัก แต่ความรู้เรื่องอาหารการกินในศาสนาพุทธก็เป็นเรื่องน่าศึกษาเรียนรู้ อย่างเช่น การปฏิบัติที่เรียกว่า "ไม่กินอาหารหลังเที่ยง" และ "การกินอาหารมังสวิรัติ" เป็นต้น

        การไม่กินอาหารหลังเที่ยงหรือไม่กินอาหารนอกเวลาที่กำหนด ตามพระวินัยกำหนดให้ภิกษุฉันอาหารภายในกำหนดเวลา คือตั้งแต่รุ่งเช้าจนถึงเที่ยง การฉันอาหารหลังเวลาเที่ยงวันถือว่าฉันอาหารนอกเวลาที่กำหนด ผิดข้อบัญญัติตามพระวินัย ในพระคัมภีร์มีคำอธิบายถึงสาเหตุของการตั้งบัญญัติข้อนี้ไว้หลายแห่ง ตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนมีภิกษุบางรูปออกบิณฑบาตยามค่ำ ในความมืดมีหญิงตั้งครรภ์คิดว่าภิกษุนั้นเป็นผีจึงตกใจกลัวจนแท้งลูก พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติห้ามบิณฑบาตยามค่ำ

        อีกเหตุผลหนึ่งที่อ้างกันมาก็คือ ในศาสนาพุทธเวลาก่อนเที่ยงเป็นเวลาถวายอาหารสำหรับพระ เวลาหลังเที่ยงเป็นเวลาให้อาหารสำหรับผี ดังนั้น ในกลุ่มประเทศอาเซียน ภิกษุในศาสนาพุทธจะฉันอาหารเพียงสองมื้อ คือหลังลุกจากที่นอนหนึ่งมื้อและเวลาเที่ยงวันอีกหนึ่งมื้อ พ้นจากเที่ยงวันไปแล้วจะไม่ฉันอาหารอีก แต่ในประเทศจีน พระในวัดพุทธที่อยู่ในเขตของวัฒนธรรมชาวฮั่น นอกจากต้องท่องสวดธรรมบทแล้วยังต้องทำการเพาะปลูกด้วย จึงยังจำเป็นต้องฉันอาหารเล็กน้อยในยามค่ำ แต่อาหารมื้อนี้ถูกเรียกว่า "อาหารโอสถ" (药食) ความหมายของชื่อนี้เป็นการเตือนสติภิกษุว่าไม่ควรมีกิเลสในอาหาร มื้อค่ำนี้จึงเป็นการกินเพียงเพื่อเป็นยาประทังความหิวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีวัดหลายแห่งก็ถือปฏิบัติไม่ฉันอาหารหลังเที่ยงเช่นกัน ส่วนชาวพุทธที่เป็นฆราวาส หากถือศีลแปด อย่างน้อยในแต่ละเดือนต้องถือปฏิบัติไม่กินอาหารหลังเที่ยงสักหนึ่งวัน

        อันที่จริง การกินอาหารวันละสามมื้อของคนทั่วไปนั้นเป็นเพียงความเคยชินเท่านั้น ถ้าเราเริ่มปฏิบัติกินสองมื้อแล้ว อาจจะรู้สึกลำบากอยู่บ้าง แต่เมื่อปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งร่างกายและความรู้สึกก็จะค่อย ๆ ปรับตัวได้เอง ถึงตอนนั้นก็จะไม่ค่อยรู้สึกหิวแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ในทางการแพทย์ การกินอาหารน้อยและอดอาหารเป็นเวลาสั้น ๆ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้เพราะสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำงานมากที่สุดในระบบเผาผลาญพลังงาน ระดับการเผาผลาญออกซิเจนที่สมองเท่ากับร้อยละ 20 ของทั้งร่างกาย ดังนั้น ถ้าเรากินอาหารมากเกินไป ออกซิเจนจำนวนมากก็จะถูกดึงไปใช้ในการย่อยอาหารในกระเพาะ จนกระทั่งออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองมีไม่เพียงพอ ก็จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน 

        เรื่องนี้ แม้ขงจื๊อยังได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ The Analects (论语) ว่า "กินอาหารขออย่าให้ถึงขั้นอิ่ม" หรือจวงจื๊อก็กล่าวว่า "ลดอาหารเพื่อถนอมกระเพาะ เพิ่มการอ่านเพื่อหล่อเลี้ยงความกล้าหาญ" และในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง (黄帝内经) ซึ่งเป็นตำราการแพทย์แผนจีนเล่มแรกมีบันทึกไว้ว่า กินอาหารมากไปจะทำให้กระเพาะและสำไส้เสื่อม หรือกินอาหารต้องรู้จักประมาณ ที่สำคัญคืออย่ากินให้มากเกินไป 

        นอกจากนี้ ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ของคนเราจะมีกากอาหารและแบคทีเรียอยู่มาก ถ้าเราไม่กินอาหารเป็นเวลาสิบกว่าชั่วโมง สิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ก็จะถูกขับออกไปได้ง่าย ร่างกายก็จะไม่ป่วยง่าย ในทางกลับกัน หากเรากินอาหารมากเกินไป จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบการย่อยและการเผาผลาญ ทำให้กระเพาะลำไส้ หัวใจ ตับและถุงน้ำดีไม่ได้หยุดพัก เกิดผลกระทบไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น สำหรับชาวพุทธที่เป็นฆราวาสหรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธก็ตาม อาจจะไม่จำเป็นต้องลดหรืองดอาหารอย่างพระ แต่การลองฝึกไม่กินอาหารหลังเวลาเที่ยงหรือกินให้น้อย ก็จะมีส่วนช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแน่ ๆ

        อีกเรื่องหนึ่งคือการกินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเป็นการกินอาหารรูปแบบหนึ่งที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าสัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์น้ำ หรือสัตว์ทุกชนิด ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้มีใจเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง บัญญัติศีลข้อห้ามการฆ่าขึ้นมาเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ทั้งสิ้น ละเว้นการฆ่าก็คือการปฏิบัติจิตเพื่อเข้าสู่ความเมตตา ศาสนาพุทธจึงสนับสนุนการกินมังสวิรัติ

        ในสังคมปัจจุบัน คนสมัยนี้หันมากินอาหารมังสวิรัติกันมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เป็นชาวมังสวิรัติรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่มีอายุน้อยลง มังสวิรัติไม่ใช่แค่เรื่องของศาสนาอีกต่อไป นักมังสวิรัติจำนวนมากก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าได้บรรลุธรรมขั้นสูงแต่อย่างใด พวกเขาเลือกที่จะกินอาหารมังสวิรัติก็เป็นการเลือกรูปแบบของการกินอาหารอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เคารพชีวิตสัตว์อื่น รักษาสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ดังนั้น การกินอาหารมังสวิรัติจึงค่อย ๆ กลายเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งในสังคมสมัยใหม่นี้ 

เขียนโดย 广行法师
ที่มา http://rufodao.qq.com/a/20170316/031845.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...