25 มิ.ย. 2560

ทำไมเราถึงเจอแต่คนเลวคนชั่ว



        เรามักจะได้ยินผู้คนเขาบ่นกันอยู่บ่อย ๆ ว่าชีวิตต้องพบเจอแต่คนเลว ๆ เต็มไปหมด โดนคนอื่นให้ร้ายอยู่เรื่อย ๆ รู้สึกว่าจะมีแต่คนกลั่นแกล้งทำร้ายอยู่ตลอดเวลา

        "ไอ้หมอนั่นก่อเรื่องอีกแล้ว หมอนี่ก็เลวซะไม่มีดี ยัยนั่นกำลังวางแผนชั่วอะไรกับเราอีกล่ะ" เรามักจะบ่นอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น

        สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ มีหลายอย่าง มองในแง่วิบากกรรมในศาสนาพุทธ นี่คือผลของวิบากกรรมที่เราเคยทำมาในอดีต มองในแง่ของการปฏิบัติธรรม แสดงว่าเรายังพากเพียรไม่พอ จึงยังไม่เข้าใจว่าโลกนี้ยุติธรรมเสมอ หรือมองในแง่ของทัศนคติ แสดงว่าเรายังมองออกนอกตัวอยู่ ยังไม่รู้จักการมองเข้าหาตัว...

        อันที่จริง ปัญหานี้ประเด็นหลักอยู่ที่ทัศนคติและการปฏิบัติของเราเอง เพราะเราติดนิสัยชอบบ่นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร มีเรื่องอะไรก็เอาแต่มองออกนอกตัว ตำหนิผู้อื่น ไม่รู้จักการมองเข้าหาตัว คิดแต่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือเงื่อนไขภายนอก ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ความจริงแล้ว เรื่องภายนอกนั้นมันไม่เปลี่ยนหรอก มันเปลี่ยนไม่ได้ หรือจะพูดว่ามันยากที่จะเปลี่ยนก็ย่อมได้ สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เพียงสิ่งเดียวก็คือตัวเราเองนั่นแหละ

        ส่วนใหญ่เวลาที่เรารู้สึกว่าถูกให้ร้ายเราก็มักจะหาทางรับมือหรือตอบโต้ เพื่อที่จะหลุดออกมาจากสภาพที่ถูกบีบคั้นนั้น แต่ผลกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ยิ่งหนีก็ยิ่งติด ยิ่งผลักก็ยิ่งถลำลึก เลยติดกับอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต แบบนี้ก็กลายเป็นว่าชีวิตต้องติดอยู่ในบ่วงกรรมอันเป็นอกุศลไปตลอด มัดตัวเองอยู่กับการถูกคนอื่นเข้าใจผิด ถูกคนอื่นให้ร้าย กลั่นแกล้งนานาสารพัด เหมือนติดอยู่ในหล่มโคลน ไม่สามารถพาตัวเองขึ้นมาได้

        ถ้ามองในแง่ของการอยู่กับปัจจุบันแบบพุทธ ถึงแม้ว่าเราจะตกลงไปอยู่ในกับดักหรือแผนการให้ร้ายของผู้อื่นก็ตาม ก็ต้องพยายามจัดการกับปัจจุบันให้ดี จะไม่บ่น จะไม่ตัดพ้อ เสียใจ ไม่โทษฟ้าโทษดินหรือโทษผู้อื่น แต่จะพยายามทำตัวของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็คือ จิตที่มีพลังตั้งมั่นสามประการ ได้แก่ ไม่เสียใจกับเรื่องในอดีต ไม่บ่นกับเรื่องในปัจจุบัน และไม่กังวลกับเรื่องในอนาคต อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เป็นปัญญาอันยิ่งของศาสนาพุทธ

        ตามหลักของศาสนาพุทธ ทุกสิ่งล้วนยุติธรรมเสมอ ไม่มีอะไรที่เป็นโชคหรือเป็นเคราะห์เลย ที่พูดกันว่าถูกให้ร้ายปองร้าย มันเป็นแค่ใจของเราเท่านั้นที่บอกว่าไม่ยุติธรรม เพราะภายใต้สถานการณ์ที่เราเข้าใจว่าได้ถูกผู้อื่นให้ร้ายนี้ เรายังสามารถที่จะเผชิญหน้ากับมันได้ ยอมรับมันได้ กระทั่งสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ให้ดีขึ้นได้ เช่นนี้แล้ว เคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นกลับจะกลายเป็นฐานที่ช่วยให้เราได้ปฏิบัติในการเพิ่มพูนกำลังในจิตให้ตั้งมั่นในทางที่เจริญได้ยิ่งขึ้นด้วย

        แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมไม่สามารถปรับตัวยอมรับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างปุบปับได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติ มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า "ไม่มีทุกข์ใดจะเกินกลืนฝืนทน มีแต่สุขเท่านั้นที่เกินก้ำร่ำเสพ" จากการศึกษาพระธรรม เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ สามารถปรับตัวอย่างช้า ๆ จนเหตุการณ์นั้นคลี่คลาย และในที่สุดเราจะสามารถขอบคุณต่อเหตุการณ์ร้ายหรือเคราะห์ร้ายเหล่านั้นได้ 

        ขอเพียงแค่เราตั้งทัศนคติของเราให้ถูกต้อง ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ "คนชั่ว" หรือ "เคราะห์ร้าย" เสียใหม่ เราก็จะได้ประโยชน์จากเคราะห์ร้ายนั้นได้ ขอให้เราพยายามที่จะเผชิญกับมันให้ได้ ก็จะพลิกกลับจากการเป็นเบี้ยล่างผู้ถูกกระทำมาเป็นนายของสถานการณ์ได้ เปลี่ยนจากภาวะตัดพ้อมาเป็นรู้สึกขอบคุณต่อเหตุการณ์นั้นได้ นี่ก็คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นนายของตนเอง เป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้

        ด้วยเหตุนี้ เมื่อเรารู้สึกว่ากำลังถูกผู้อื่นให้ร้าย ไม่ต้องไปเสียใจ ไม่ต้องบ่นหรือตัดพ้อต่อว่าใครทั้งสิ้น และต้องไม่ไปตอบโต้เขาด้วย เรามีศักยภาพเต็มที่ที่จะอาศัยกำลังของตนเองในการเผชิญกับมัน ยอมรับและปรับปรุงมันให้ดีขึ้น สิ่งนี้เป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งในการเผชิญชีวิตอย่างถูกต้อง เป็นที่มาของความรู้สึกขอบคุณต่อโลก เป็นการปฏิบัติอย่างให้อภัยต่อโลก และเป็นการแบ่งปันผลสำเร็จของการปฏิบัติได้จริง ๆ ให้แก่โลกด้วย

        กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายหรือความทุกข์ใด ๆ หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือคือทำให้มันเป็นโจทย์ที่เราต้องพยายามแก้ให้ได้ ตั้งจิตให้มั่น ตั้งใจปฏิบัติตนภายใต้เงื่อนไขของเคราะห์ร้ายที่เกิดนี้ ควบคุมจัดการกับปัจจุบันของเราเองและพากเพียรพยายามปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ให้จงได้

เขียนโดย 明一法师
ที่มา http://foxue.qq.com/a/20170615/032958.htm

หมายเหตุ แปลเอาความตามความเข้าใจของผู้แปลเท่านั้น อาจไม่ตรงกับต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตั้งใจสื่อประเด็นสำคัญของเรื่องก็คือ โลกนี้ยุติธรรมเสมอ สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหลายล้วนมีเหตุจากวิบากกรรมที่เราเคยทำมาทั้งสิ้น ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน ๆ การโทษผู้อื่นว่าทำผิดต่อเรานอกจากจะเป็นการไม่ยอมรับความจริงแล้ว ยังเป็นการสร้างวิบากกรรมใหม่ให้แก่ตนเองอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...