30 พ.ย. 2560

มังสวิรัติกับการฆ่า และมนุษย์กับสัตว์จะอยู่ร่วมอย่างเห็นใจกันได้อย่างไร



        บริสุทธิ์เพราะไม่ได้เห็น?


จาง จี้ ชง
        จากงานกิจกรรม "Green Monday" ทำให้ผมได้รู้ว่าเหตุผลที่ จาง จี้ ชง ( 张继聪 - ศิลปินนักร้องและนักแสดงชาวฮ่องกง) กินมังสวิรัตินั้นไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา แต่เป็นความรู้สึกว่ากินไม่ลงจริง ๆ ในอดีตเขาก็เคยเป็นนักกินเนื้อมาก่อน โดยเฉพาะเนื้อวัว และมักจะมองพวกที่กินมังสวิรัติว่าเอาแต่กินพืชผักก็เพราะยังไม่เคยลิ้มรสเนื้อวัวที่อร่อยจริง ๆ จนกระทั่งเขาบังเอิญได้ดูหนังสารคดีเรื่องหนึ่งในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เขาจึงค้นหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความจริงมากขึ้น ๆ จนถึงขั้นที่รู้สึกว่ารับไม่ไหวอีกแล้ว จึงตัดสินใจค่อย ๆ ลดละเลิกเนื้อสัตว์ทุกชนิด เมื่อได้ฟังเรื่องที่เขาเล่าด้วยตัวเองแล้ว ผมรู้สึกประทับใจมาก และรู้สึกนับถือเขาอย่างยิ่ง เพราะมีคนไม่น้อยที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องอันน่าสยดสยองของกระบวนการในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์มาก่อน แต่คนส่วนใหญ่มักมองแค่ว่ามันเป็นความจริงที่เขาไม่สะดวกใจที่จะรับรู้ หรือรู้ไว้บ้างนิดหน่อยก็พอแล้ว ไม่ได้อยากจะรู้อะไรลึก ๆ ไปกว่านั้นอีก บางคนก็ได้แต่เบือนหน้าหนีและกลบฝังมันไว้ในสมองเบื้องลึกที่ยากจะขุดขึ้นมาคิดถึงอีก แต่ จาง จี้ ชง นั้นสามารถกระตุกตัวเองให้เกิดมีสำนึกขึ้นมา ใช้สติปัญญาทำความเข้าใจความจริงแต่ละชั้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังม่านมืดสีดำ มีความตั้งใจมากพอจะที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะคิดทำกันได้โดยง่าย ๆ 

        เพื่อน ๆ ที่เป็นนักมังสวิรัติหลายคนมักจะชอบเผยแพร่ภาพสัตว์ต่าง ๆ ถูกฆ่าอย่างทรมาน โดยหวังว่าภาพเหล่านั้นจะส่งผลให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่เกิดความสลดใจ ราวกับว่าถ้าใครได้เห็นภาพวัวน้ำตาตก ไก่ถูกเชือดคอ แล้วยังสามารถใจแข็งพอที่จะกินเนื้อต่อไปได้ ก็คงเป็นคนเลวทรามต่ำช้าเกินมนุษย์มนาไปแล้ว แต่พอทำแบบนี้ไปนานเข้า นานเข้า ก็จะมีคนจำนวนมากที่เริ่มรับไม่ไหว รู้สึกว่าการกระทำแบบนั้นมันเหมือนการคุกคามข่มขู่ ภาพความจริงที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกไม่สบายใจแบบนี้ ไม่ควรนำมาเผยแพร่ให้คนได้เห็นกันเลย ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังสามารถดำเนินชีวิตกันต่อไปได้แบบวิถีเดิม ๆ มันเหมือนกับทหารอเมริกันที่เป็นผู้บังคับเครื่องบินรบไร้คนขับ เขานั่งอยู่ในห้องลับ ๆ ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ อยู่ห่างจากสมรภูมิรบนับพันไมล์ ข้างตัวมีกาแฟอยู่ถ้วยนึง ด้านหน้ามีจอแสดงภาพ สำหรับเขาแล้ว การฆ่าก็คือการใช้นิ้วโป้งกดปุ่มในมือเท่านั้นเอง สงครามได้ถูกทำให้กลายเป็นเสมือนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง แค่เรากดปุ่มสีแดงไปเท่านั้น บนจอภาพก็จะมีแสงวาบสว่างขึ้นกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่มีเลือดแม้สักหยดจะกระเซ็นมาถูกตัวเราเลย และไม่ได้ยินเสียงกรีดร้องคร่ำครวญใด ๆ ตลอดจนเสียงร่ำไห้โหยหวนที่ตามมา เมื่อเสร็จภาระกิจแล้ว เราแทบไม่จำเป็นต้องล้างมือด้วยซ้ำ สามารถกลับไปกินดินเนอร์ที่บ้านต่อและนั่งสอนการบ้านลูกภายใต้แสงไฟอันอบอุ่นของบ้านได้อย่างสงบสุข

        ยุคสมัยของเรานี้ เป็นยุคของการฆ่าได้อย่างสะอาดหมดจด และเป็นยุคที่มนุษย์แบ่งแยกสัตว์ออกไปห่างไกลจากตัวเองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เด็กส่วนใหญ่ที่เคยเห็นวัวด้วยตาตัวเองจริง ๆ ก็ได้เห็นแค่เนื้อวัวสีแดง ๆ ในตลาดเท่านั้น แม้แต่วัวเป็น ๆ ที่กำลังกินหญ้าหรือกินอาหารสัตว์ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นกันแล้ว ยิ่งไม่มีวันได้เห็นสภาพในโรงฆ่าวัวเลย นอกจากนี้ ยุคสมัยที่ยิ่งดูเหมือนศิวิไลซ์มากขึ้น ระยะห่างระหว่างคนกับสัตว์นี้ก็จะยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ โรงฆ่าสัตว์ก็ยิ่งจะกลายเป็นสถานที่อันเป็นนามธรรมมากขึ้นทุกที เมื่อสิบกว่าปีก่อน เรายังได้เห็นขบวนโบกี้รถไฟที่บรรทุกสุกรเนื้อแล่นผ่านสถานีไป ยังได้กลิ่นของพวกมัน (พร้อมกับเอามือปิดจมูกแล้วบ่นว่า "เหม็น") กระทั่งได้ยินเสียงร้องฟึ่ดฟั่ดของพวกมัน แต่ในวันนี้ ด้วยความศิวิไลซ์ ฮ่องกงสามารถเอากระบวนการอันไม่น่าอภิรมย์นี้ไปซ่อนไว้นอกเมืองทางตอนเหนือเรียบร้อยแล้ว เป็นการปลดเปลื้องชาวเมืองจากภาระที่ต้องพบเห็นที่มาของเนื้อหมูด้วยตาตนเองออกไป เพราะอย่างนี้เอง ผมจึงพอจะนึกออกได้ว่าเหตุใดเด็ก ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ ของอเมริกาบางแห่ง จึงไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อไก่แช่แข็งในซุปเปอร์มาร์เก็ตกับไก่ที่เห็นในทีวี พวกเขาพูดติดตลกกันว่า เด็กน้อยไร้เดียงสาเหล่านั้นคิดว่าเนื้อไก่ก็เหมือน ๆ กับมันฝรั่ง เป็นผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสัตว์เลย ผมเชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่แค่มุขตลกเท่านั้น และบังเอิญว่ายุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์เป็นปริมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์เสียด้วย

        การฆ่าของนักมังสวิรัติ


เซอร์ พอล แมคคาร์ทนีย์
        พอล แมคคาร์ทนีย์ และ สเตลลา แมคคาร์ทนีย์ ลูกสาวของเขา เป็นคนดังที่ช่วยในการรณรงค์เพื่อสิทธิของสัตว์ และพยายามผลักดันเรื่องการกินมังสวิรัติอย่างเต็มที่ เพื่อน ๆ ที่เป็นชาวมังสวิรัติของผมหลาย ๆ คนชอบยกคำพูดประโยคหนึ่งของพอล แมคคาร์ทนีย์ มาพูดกันเสมอคือ "ถ้าผนังห้องของโรงฆ่าสัตว์ทำด้วยกระจกใสทั้งหมด ทุกคนก็คงจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติกันหมด" ความสำคัญของคำพูดนี้คือกลยุทธ์ที่เรามักเห็นอยู่บ่อย ๆ ในกลุ่มผู้รณรงค์เรื่องมังสวิรัติในปัจจุบัน คือพยายามทำให้คนได้เห็นกระบวนการในส่วนที่ไม่เคยได้เห็นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อที่เรากินกันอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด ทำให้คนได้รู้ว่าแท้จริงแล้วลูกวัวที่น่ารักกับชิ้นเนื้อลูกวัวที่อ่อนนุ่มในจานมีความเกี่ยวข้องกัน ทำให้ทุกคนที่กำลังแบ่งหนังกรอบ ๆ ของหมูหันกินกันบนโต๊ะอาหารได้นึกถึงลูกหมูตัวหนึ่งที่เลือดพุ่งเพราะถูกผ่าท้องควักเอาไส้และอวัยวะภายในทั้งหมดออก ถ้าหากว่าโรงฆ่าสัตว์ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถ้าหากว่าโรงฆ่าสัตว์เป็นอาคารที่โปร่งใสจริง ๆ ทุกคนสามารถมองเห็นการฆ่าที่เกิดขึ้นในนั้นได้ เห็นเลือดที่นองอยู่บนพื้น เห็นเศษขนติดอยู่ตามผนัง ทำให้คนต่างเกิดความเห็นอกเห็นใจสัตว์ขึ้นมาได้ เชื่อแน่ว่าเราต้องเปลี่ยนมากินมังสวิรัติกันอย่างแน่นอน

        แต่ผมก็มักจะสงสัยอยู่เสมอว่า วิธีการที่นำเอาภาพการฆ่าสัตว์กลับมาสู่สายตาของเราแบบนี้นั้น มันมีขีดจำกัดอยู่หรือไม่ การทำให้สะเทือนใจอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าใช้เหตุผลคิดให้ถี่ถ้วนแล้ว มันอาจนำเราไปชนกำแพงและทำให้เรื่องนี้ล้มเหลวก็ได้

ไช่ จู เอ๋อร์
        ไช่ จู เอ๋อร์ ( 蔡珠儿 ) นักเขียนชาวไต้หวันที่มาพำนักอยู่ที่ฮ่องกง ได้เขียนบทความเรื่อง "นักฆ่านางระบำ" ( 舞娘杀手 ) อยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของเธอที่ชื่อว่า "บันทึกการปลูก" ( 种地书 ) ซึ่งน่าจะหยิบยกมาให้อ่านกันยาว ๆ สักตอนหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ในการกำจัดหนอนในสวนผักที่บ้านของเธอเองบนเขาต้าอวี่

        "ถั่วลันเตานั้นถูกโจมตีก่อนเพื่อน ใบของยอดต้นถั่วถูกเจาะกินอยู่ก่อนนานแล้ว จนเมื่อฉันไปเห็นเข้า ใบที่เขียวสดหนาอย่างผ้าต่วนก็ปรุพรุนเป็นผ้ากอสบาง ๆ เสียแล้ว ฝักถั่วก็ม้วนหงิกและย่นยับ เห็นแล้วมันปวดใจ ฉันจึงตามหาผู้ร้ายในโรงเรือนเพาะชำ ที่แท้ก็คือเจ้าหนอนขนสีน้ำตาลลายพาดเหลืองนี่เอง ฉันลงมือบี้มัน บี้จนของเหลวสีเขียว ๆ ทะลักออกจากตัวมัน เมื่อก่อนเวลาล้างผักแล้วเจอหนอน ยังต้องใช้ที่คีบหนีบออก แต่ตอนนี้มันโมโหจนหน้ามืดแล้ว ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เจอตัวนึงก็บี้เลย เจอสองตัวก็บี้ทีเดียวทั้งคู่ ฆ่ามันอย่างไร้ความปราณี ฆ่าอยู่นานจนหมดเกลี้ยง วันรุ่งขึ้น เหมือนโดนผีหลอก พวกหนอนเหมือนจะฟื้นคืนชีพได้ ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะ ไต่ดุ๊กดิ๊กและเจาะรูบนต้นถั่ว ฉันก็บี้พวกมันอีกอย่างรุนแรง ฆ่าจนเมื่อยมือ แต่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็มาแทรก ผักกาดไต้หวันก็ถูกเจาะเหมือนกัน ใบผักถูกกินจนเป็นกลายตาข่ายเปื่อย ๆ บางต้นถูกกินจนเหลือแต่แกนลำต้น หนอนตัวเขียวมันดูอวบอ้วนมาก มันกินเอากินเอาอย่างสุขสำราญเบิกบานใจทีเดียว"

        นอกจากหนอนตัวเขียวแล้ว ไช่ จู เอ๋อร์ ยังต้องผจญกับแมลงหวี่ หนอนใยผัก และหนอนอีกชนิดหนึ่งที่ดูคล้ายขี้นก เพื่อที่จะกำจัดพวก "หนอนร้าย" ให้สิ้นซาก เธอตัดสินใจที่จะตรวจสอบโลกและชีวิตของพวกมันให้กระจ่างแจ้ง เรียนรู้พวกมันเพื่อกำจัดพวกมันอย่างเด็ดขาด เธอจึงได้ค้นพบว่า

ผีเสื้อหางติ่ง

        "ที่แท้หนอนขนลายเหลืองจะกลายเป็นผีเสื้อหนอนกะหล่ำเล็ก หนอนใยผักจะกลายเป็นมอธกะหล่ำเล็ก (small cabbage moth) หนอนตัวเขียวจะกลายเป็นผีเสื้อขาว ส่วนหนอนขี้นกก็เป็นตัวอ่อนน้อย ๆ ของผีเสื้อหางติ่ง หรือ swallowtail butterfly ซึ่งมันจะออกจากดักแด้กลายเป็นนางระบำสวมชุดพริ้วไหวสีแดงลายคาดดำ เป็นสิ่งมีชีวิตอันสวยงามที่พบเห็นได้ทั่วไปบนเกาะ ฉันยังเคยสอนเด็ก ๆ แถวบ้านให้รู้จักชนิดพันธุ์ของพวกมันด้วยสิ ยิ่งดูข้อมูลก็ยิ่งตกใจ ไม่นึกเลยว่าตัวเองจะกลายเป็นนักฆ่าผีเสื้อหางติ่งไปได้ มือที่เปื้อนเลือดสีเขียว ได้บี้นางระบำแห่งธรรมชาติตายไปเท่าไหร่แล้ว"

        เรื่องของ ไช่ จู เอ๋อร์ ทำให้ผมนึกถึงคุณลุงคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านพักของผมในสมัยก่อน แกทำสวนผักเล็ก ๆ บนพื้นที่ร้าง ๆ ในหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของทุกปี เป็นเวลาของพวกผีเสื้อจะบินว่อนกันอย่างร่าเริง แต่งแต้มสีสันอ่อนหวานท่ามกลางพุ่มพฤกษ์พงไม้ ดูสวยงามอย่างมาก แต่คุณลงคนนี้กลับไล่ตามพวกมันอย่างกับเด็ก ไม่ใช่เพื่อความสนุกหรอก แต่ตั้งใจจะฆ่าพวกมันให้ตายจริง ๆ เลย เหตุผลก็เพราะต้องการทำลายพวกมันอย่างถอนรากถอนโคน ไม่ให้มีโอกาสแม้แต่จะวางไข่สืบพันธุ์เลยทีเดียว

        เรื่องที่ผมลืมไม่ลงอีกเรื่องหนึ่งคือประสบการณ์ตอนที่ไปเยี่ยมชมสวนเกษตรสมัยใหม่แห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน การกำจัดหนอนแมลงทั่วไปในที่อื่น ๆ นั้นเทียบกับที่นั่นไม่ได้เลย บนพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกถั่ว แม้แต่มดก็ไม่มีสิทธิ์จะรอด เขาจะค้นหารังมดและทำลายให้สิ้นซาก อันนี้เป็นงานที่คนงานในไร่ต้องทำกันเป็นประจำกันเลยทีเดียว เวลาเช้าตรู่ของทุกวัน พวกเขาต้องรีบตื่นกันตั้งแต่ตะวันยังไม่ยอแสง เพื่อจะจับและฆ่าหอยทากที่มักจะคลานออกมาบนพื้นดินในเวลานี้ เป็นหอยทากเปลือกสีแดงสด มากันทีเป็นฝูง บางครั้งถึงขนาดคลานกันเกลื่อนเต็มท้องนา เป็นภาพที่น่าสยดสยองอย่างบอกไม่ถูกจริง ๆ

        ในช่วงเวลาที่ว่างจากงานในไร่ ผมได้ถามลูกเจ้าของไร่ว่าฆ่าไปเท่าไหร่แล้ว เขาทำท่านับ ๆ ดูแล้วตอบว่า "พื้นที่ปลูกผักไม่กี่สิบหมู่ (หน่วยวัดพื้นที่ของจีน) นี้ แต่ละเดือนต้องกำจัดหนอนแมลงประมาณหนึ่งตันได้ละมั้ง"

        ผู้เสียสละ


        เนื่องจากการเพาะปลูกนั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ตัวเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น นักมังสวิรัติเองก็ไม่อาจจะหลบเลี่ยงความรู้สึกผิดจากการฆ่าได้เช่นกัน และถ้าเราเลียนแบบวิธีคิดของพอล แมคคาร์ทนีย์เรื่องโรงฆ่าสัตว์ที่โปร่งใส โดยการสร้างแปลงผักไว้กลางเมือง แล้วสร้างห้องที่โปร่งใสเล็ก ๆ ไว้ห้องหนึ่งสำหรับแสดงซากศพของหอยทากและหนอนขนที่ถูกกำจัดในแต่ละวัน ให้ทุกคนได้เห็นว่าการกินผักนั้นแลกมาได้ด้วยอะไร นี่จะทำให้เราไม่กล้าแม้แต่จะกินพืชผักด้วยหรือเปล่านะ เขียนมาถึงตรงนี้ ผมรู้ดีว่าต้องมีคนคิดว่าผมกำลังจะประณามพวกนักมังสวิรัติว่าเป็นนักบุญจอมปลอมแน่ ๆ "ดูสิ ปากก็บอกว่าไม่ฆ่าสัตว์ แล้วยังไง ก็ยังฆ่าชีวิตเล็ก ๆ ตายเป็นเบืออยู่ดีไม่ใช่หรือ?"

        เปล่าเลย เรื่องมันไม่ได้จบแบบแย่ ๆ ขนาดนั้นหรอก เพราะเรายังสามารถติดตามวิธีคิดของกลุ่มคนที่เป็นนักมังสวิรัติไปได้ลึกกว่านั้นอีก เราจะไต่สวนพวกเขาต่อไปว่า "แล้วพืชไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหรอกหรือ? การกินผักไม่เป็นการฆ่าชีวิตละหรือ?" คำถามนี้ดูเหมือนจะตอบยาก แต่จะตอบจริง ๆ ก็ไม่ได้ยากลำบากอย่างที่คิด เพราะนักมังสวิรัติที่มีฐานคิดอยู่บนทฤษฎีสัตววิทยานั้น ไม่ได้สนใจความเป็นชีวิตในความหมายอย่างกว้างเท่าไหร่ สิ่งที่เขาให้ความสนใจกันก็อาจจะเป็นว่า ชีวิตที่ถูกนำมากินนั้นมีความใกล้เคียงกับมนุษย์แค่ไหน (ยิ่งเหมือนมนุษย์เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเทียมเท่ามนุษย์เท่านั้น) หรืออาจจะสนใจเฉพาะสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่มีความสามารถในการมีความรู้สึกเจ็บปวดได้เท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรู้สึกเจ็บปวดนี้เอง เป็นเหตุผลพื้นฐานที่ทำให้นักมังสวิรัติจำนวนมากปฏิเสธการกินเนื้อสัตว์ ในสายตาของพวกเขานั้น สัตว์มีระบบประสาทมีสมอง มีความรู้สึกเจ็บปวดอย่างมากถ้าถูกเชือดด้วยมีดหรือต้มในน้ำเดือด มันเหมือนมนุษย์เรา เหตุใดเราจึงจะกลายเป็นฆาตกรฆ่าไก่ เป็ด วัว แพะ เพียงเพื่อสนองความอยากของปากท้องเท่านั้น เหตุใดเราจึงต้องเป็นเหตุให้พวกมันต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์ด้วยเล่า ในทางกลับกัน แม้พืชจะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน มียีนบางส่วนที่เหมือนกับมนุษย์ด้วย (ตัวอย่างเช่นกล้วย มียีน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหมือนกับมนุษย์) แต่พวกมันไม่มีความรู้สึกหวาดกลัว และไม่รู้สึกเจ็บปวดด้วย ต่างกับสัตว์อย่างชัดเจน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราสามารถกัดกินกล้วยได้เต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่เป็นเพราะว่ามันมีศักดิ์ศรีเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของความเป็นมนุษย์ แต่เป็นเพราะว่าเมื่อเราตัดกล้วยลงมาจากต้น มันจะไม่เจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางคนที่เชื่อในทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างหลุดโลกที่บอกว่า พืชก็มีความรู้สึกได้เหมือนกับสัตว์ ไม่เพียงแต่รู้จักความเจ็บปวดเท่านั้น ยังอาจจะชอบฟังเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองไพเราะด้วย มีหนังสือที่เคยขายดีเล่มหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตอันลึกลับของพืช" เป็นที่รวมของแนวคิดแบบนี้จำนวนมาก ทั้งเล่มเต็มไปด้วยการสาธยายต่าง ๆ นานา ตลอดจนผลการทดลองที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เป้าหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตพืชมีความลึกลับซับซ้อนมากมาย จนแทบจะเรียกว่ามีจิตวิญญาณเลยทีเดียว

        ท่านนักมังสวิรัติที่ไม่อยากให้พวกพืชต้องได้รับทุกข์ทรมานโปรดสบายใจได้ แนวคิดพวกนั้นไม่มีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์ได้ เพราะมันสร้างความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงต่อความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของพืชกับความรู้สึกของสัตว์ แล้วนำมาพูดปะปนกันมั่วไปหมด จริงอยู่ พืชสามารถรับรู้ทิศทางของแสงได้ สามารถแยกแยะกลิ่นของพืชหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ กระทั่งมีความรับรู้ทางการสัมผัสบางลักษณะได้ (ต้นกาบหอยแครงเป็นตัวอย่างคลาสสิคในการอธิบายถึงการรับรู้สัมผัสของพืช) แต่ความสามารถในการรับรู้เหล่านี้ของพืชแตกต่างจากสัตว์อย่างมากก็ตรงที่การมีหรือไม่มีระบบประสาท พูดได้ว่าแม้พืชจะมีกลไกรับรู้ที่เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน เช่นต้นถั่วเมื่อสัมผัสถูกไม้รั้วก็จะเลื้อยพันรอบเป็นเถาวัลย์โดยอัตโนมัติ แต่มันไม่มีระบบประสาทที่จะส่งสัญญาณนี้ไปที่สมอง และมันก็ไม่มีสมองด้วย ดังนั้น จะบอกว่าพืชมีความรู้สึกเจ็บปวดได้อย่างไร ความเจ็บปวดก็ดี ความสบายก็ดี เป็นความรู้สึกที่มีได้เฉพาะในสัตว์เท่านั้น

ปีทาโกรัส
        แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นสาวกผู้เคร่งในศาสนาหรือจารีตประเพณี และไม่ได้มีวิธีคิดอะไรเป็นพิเศษต่อชีวิตของพืช วิทยาศาสตร์ก็ไม่มีผลอะไรกับคุณมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ปีทาโกรัส (Pythagoras) นักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นปัญญาชนผู้ลึกลับคนหนึ่งในยุคกรีกโบราณ คุณรู้ไหมว่าเขาตายอย่างไร ...ในเย็นวันนั้น คู่อริของเขาพาอันธพาลมากลุ่มใหญ่มายังแหล่งพักอาศัยของเหล่าลูกศิษย์ของปีทาโกรัส (คู่อริคนนี้เป็นลูกของคหบดีผู้มั่งคั่ง เคยมาขอเป็นลูกศิษย์ของสำนักปีทาโกรัส แต่ถูกปฏิเสธ จึงผูกใจเป็นความแค้น) พวกเขาวางเพลิงเผาบ้านก่อน จนผู้คนวิ่งหนีออกทางประตู แล้วพวกเขาก็ใช้มีดและดาบดักฟันที่หน้าประตู บรรดาลูกศิษย์ก็ช่วยกันป้องกันการบุกโจมตีอย่างเต็มที่ เพื่อให้อาจารย์สามารถหลบหนีเอาชีวิตรอดไปให้ได้ แต่นึกไม่ถึงว่าปีทาโกรัสในวัยชราซึ่งอุตส่าห์หนีออกมาได้แล้ว กลับมาหยุดอยู่ที่หน้าไร่ถั่วแปลงหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจารย์ผู้ลึกลับซึ่งถือมังสวิรัติมาโดยตลอดผู้นี้มีความเชื่อว่าในเมล็ดถั่วนั้นมีวิญญาณของมนุษย์อยู่ มันเป็นวิญญาณช่วงหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ เขาจึงไม่เคยกินถั่ว แม้ในเวลาวิกฤติอย่างนี้ ก็ไม่ยอมที่จะเหยียบย่ำลงไปบนต้นถั่วเพื่อประโยชน์ของตนเอง เขาจึงหยุดยืนอยู่บนขอบแปลงถั่วนั้น หันหน้าไปทางแปลงถั่วที่กำลังอาบไปด้วยแสงทองของอาทิตย์อัสดงที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า มีคนเล่าว่าตอนนั้นดวงตาเขาเป็นประกายอ่อนโยนและเต็มเปี่ยมด้วยรักและเมตตา เพราะเขารู้ดีว่านี่จะเป็นภาพสุดท้ายที่เขาเห็นในชีวิตนี้ จากนั้นก็มีมีดเล่มหนึ่งฟาดฟันมาจากด้านหลังผ่านลำคอของเขา เลือดสีแดงสดพุ่งกระจายไปบนแปลงต้นถั่วในยามพลบค่ำของวันนั้น

        อหิงสาของคนอินเดีย


        ในโลกนี้คงไม่มีชาติไหนทำอาหารมังสวิรัติได้หลากหลายและมีรสชาติดีเท่าคนอินเดียอีกแล้ว ถ้าท่านไม่ชอบอาหารเจของฮ่องกงที่มีรสกลาง ๆ อย่างพระฉัน หรือกินอาหารเจแบบกวางตุ้งซ้ำ ๆ จนรู้สึกเบื่อ ร้านอาหารเจอินเดียมักจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีเสมอ ทำไมคนอินเดียถึงได้รู้จักการปรุงอาหารจากพืชผักได้ดีขนาดนี้นะ เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียว เพราะจำนวนประชากรอินเดียที่เป็นมังสวิรัตินั้นมีมากจริง ๆ ในประชากร ๑,๒๐๐ ล้านคน มีคนที่เป็นมังสวิรัติเกือบถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้มีประมาณ ๒๐๐ ล้านคนที่ไม่กินไข่ด้วย เพื่อตอบสนองตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ร้านแม็คโดนัลที่อินเดียจึงได้เปิดร้านแบบพิเศษที่เป็นร้านอาหารมังสวิรัติของแม็คโดนัลแห่งแรกของโลก เรียกว่าตาแม็คยังยอมก้มหัวให้ตลาดแห่งนี้ ส่วนพิซซ่าฮัทนั้นก็แน่นอน พวกเขาสนองความต้องการของตลาดโดยการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในร้านทุกร้านในอินเดียให้เป็นอาหารมังสวิรัติไปแล้วมากกว่าครึ่ง 

        นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่อด้วยว่าอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิมังสวิรัติ มีประวัติความเป็นมาอย่างน้อยสามพันปี ตัวอย่างของปีทาโกรัสที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าการถือมังสวิรัติของเขาได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย (จริง ๆ แล้วการสังสรรค์กันทางวัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับกรีกนั้นมีความเฟื่องฟูและเก่าแก่ยิ่งกว่าที่คนทั่วไปจะนึกถึง อเล็กซานเดอร์มหาราชเคยนำศิลปะกรีกไปเผยแพร่ที่อินเดีย ระยะเวลาที่ความรู้ทางปรัชญาและคณิตศาสตร์จากอินเดียได้แพร่ขยายไปถึงกรีกนั้นอาจจะยาวนานกว่าที่เรารู้ก็ได้)

        ลองนึกดูสิ ถ้ามีวัฒนธรรมหนึ่งที่มีวิถีแห่งการกินอาหารมังสวิรัติมาอย่างต่อเนื่องถึงสามพันปี และตั้งอยู่ในบริเวณตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคาอันอุดมสมบูรณ์ แล้วยังมีประชากรสี่ถึงห้าร้อยล้านคนที่ยืนหยัดในการกินมังสวิรัติอย่างมั่นคง อาหารมังสวิรัติของพวกเขาจะไม่ดีได้อย่างไร แล้วจะทำออกมาอย่างขาดศิลปะความคิดสร้างสรรค์ได้หรือ?

        ผมสามารถหาเหตุผลมาอธิบายเส้นทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นไม่เหมือนใครของอินเดียได้มากมายทีเดียว ข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ ความกดดันด้านจำนวนประชากร กระทั่งโครงสร้างทางการเมือง ล้วนเป็นเงื่อนไขที่กำหนดว่าสังคมหนึ่ง ๆ จะมีการกินเนื้อมากน้อยเท่าไหร่ แต่เมื่อนำมาเทียบกับวิธีคิดของคนแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้แทบไม่มีความหมายอะไรนัก ตามความรับรู้ของชาวจีนอย่างเรา ๆ นั้น ชนชั้นที่มีสถานะสูงที่สุด มีอำนาจมากที่สุดในสังคม คือผู้ที่กินเนื้อสัตว์มากที่สุด ดังนั้น "ผู้ที่กินเนื้อสัตว์" ในจีนยุคโบราณแทบจะเป็นความหมายเดียวกันกับผู้ปกครองเลยทีเดียว แล้วคุณดูพวกพราหมณ์ในอินเดียสิ อยู่ในวรรณะสูงสุดของสังคม กลับถือเอามังสวิรัติเป็นความสูงส่ง และมอบการกินเนื้อสัตว์ให้เป็น "สวัสดิการ" แก่วรรณะที่ต่ำกว่า ความแตกต่างนี้เกิดจากวิธีคิดหรือทิฏฐินั่นเอง และวิธีคิดที่สำคัญที่สุดที่ครอบงำการเลือกกินอาหารของชาวอินเดียไม่มีแนวคิดไหนมีอิทธิพลมากเท่าแนวคิด "อหิงสา" (Ahimsa แปลว่า ไม่ฆ่าชีวิต ไม่ทำร้าย หรือไม่รุนแรง)

        คำว่า "อหิงสา" อาจหมายถึงการไม่ทำร้ายสรรพสัตว์ ด้วยอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททำให้สำนักปรัชญาและศาสนาความเชื่อต่าง ๆ ในอินเดียรับเอาทฤษฎีเกี่ยวกับวัฏสงสารมาด้วย พวกเขาล้วนเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ตายแล้วดับสูญสิ้นไป มันจะกลับมาเกิดใหม่ในอีกชาติหนึ่ง เป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง อีกรูปลักษณ์หนึ่งบนโลกใบนี้ ดังนั้น ถ้าคุณทำร้ายชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ก็เหมือนกับได้ทำร้ายคน ๆ หนึ่ง และด้วยเหตุแห่งกรรมนี้ ไม่เพียงแต่มีผลต่อการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น ยังมีผลในความเกี่ยวเนื่องอันซับซ้อนระหว่างชีวิตแต่ละชีวิตด้วย คล้าย ๆ กับความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน การทำลายโอกาสในการมีชีวิตรอดของชีวิตสัตว์อื่น ๆ มากจนเกินไป จะส่งผลให้ไม่ช้าก็เร็วภัยพิบัติจะตกมาถึงมนุษยชาติเป็นแน่

        พูดง่าย ๆ ว่า "อหิงสา" เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่งในการพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำร้ายชีวิตวิญญาณของผู้ใด คือการหลีกเลี่ยงจากวิบากร้าย และยังเป็นแนวทางพื้นฐานในการหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏอีกด้วย ดังนั้นการกินมังสวิรัติจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เป็นหน้าที่อันสมควรกระทำของผู้ที่ฝึกฝนทางจิตวิญญาณและผู้นอบน้อมศรัทธาต่อศาสนา อย่างไรก็ดี ปัญหาเดิม ๆ ที่มักจะมาวนเวียนรอบ ๆ ตัวนักมังสวิรัติก็กลับมาอีกว่า แล้วพืชเป็น "สรรพชีวิต" ด้วยหรือไม่? ถ้าพืชก็มีชีวิต แล้วทำไมเราจึงกินมันได้ล่ะ? ก็แน่นอน วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้บอกแก่เราแล้วว่า พืชต่างจากสัตว์ มันไม่มีจิต ไม่มีความรู้สึก ไม่อยู่ในสิ่งที่คนอินเดียเรียกว่า "ชีวิตที่มีจิตวิญญาณ" แต่สำหรับนักปรัชญาและศาสดาของศาสนาต่าง ๆ จะตอบปัญหานี้อย่างไรล่ะ ถ้าตอบไม่ได้ก็คงต้องไปกินดินกินโคลนกันหมดแน่

        นักมังสวิรัติที่เคร่งครัดที่สุดในโลก


        ศาสนาพุทธกินมังสวิรัติก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะศาสนาพุทธในปัจจุบันไม่ได้นับเอาพืชเป็นส่วนหนึ่งของ "สรรพชีวิตที่มีจิตวิญญาณ" ด้วย แต่ว่า จากการศึกษาของนักวิชาการบางคน ศาสนาพุทธในยุคแรกสุดมีท่าทีที่ค่อนข้างคลุมเครือต่อปัญหาข้อนี้ ถ้าดูในข้อศีลแล้ว พืชเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเวียนกลับมาเกิดอีกได้ และต้องให้ความเคารพและปฏิบัติต่อพืชอย่างไม่เบียดเบียนด้วย เรื่องนี้ก็ไม่แปลกหรอก เพราะจริง ๆ แล้วพืชก็เป็น "ชีวิตพื้นฐาน" หรือ borderline beings ตามแนวคิดดั้งเดิมของปรัชญาอินเดียโบราณ ในเมื่อเป็นชีวิตก็ต้องไม่ไปทำร้ายมัน ต้อง "อหิงสา" แต่มันก็เป็นอาหารพื้นฐานของมนุษย์ที่ถ้าไม่กินก็จะไม่มีชีวิตรอด คือไม่กินก็เท่ากับฆ่าตัวตาย ระหว่างการไม่ฆ่าชีวิตอื่นกับการฆ่าตัวตาย ระหว่างอุดมคติกับชีวิตจริง ปัญหาข้อนี้อาจารย์ต่าง ๆ ของอินเดียยุคโบราณได้มีคำตอบไว้แตกต่างกันออกไป

        ในบรรดาลัทธิต่าง ๆ ของอินเดียนั้น ลัทธิที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีแนวปฏิบัติเคร่งครัดที่สุดไม่มีใครเกินลัทธิมังสวิรัติแบบศาสนาเชน ตามแนวคิดของศาสนานี้ ชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ และความสูงต่ำของแต่ละระดับนั้นก็ตัดสินด้วยชนิดของการรับรู้ว่ามีมากหรือน้อย พืชมีเพียงการรับรู้ทางการสัมผัสเท่านั้น จึงอยู่ในระดับต่ำที่สุด แต่การอยู่ในระดับต่ำก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะกระทำกับมันอย่างไรก็ได้ เพราะชีวิตจะอยู่ในระดับต่ำเพียงใดก็ตาม ก็ยังคงเป็นชีวิตอยู่ดี ยังคงมีความรู้สึกและความทุกข์อยู่ ผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นไม่อาจจะเมินเฉยต่อความจริงข้อนี้ได้

        แต่หากว่าชีวิตของพืชก็มีค่า การปฏิบัติ "อหิงสา" อย่างถึงที่สุดก็ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะเพียงแค่เราเดินผ่านพื้นหญ้าก็ต้องเหยียบย่ำไปบนชีวิตแล้ว หรือเดินไปในป่า ก็ต้องเสียดสีกระทบต้นไม้ใบไม้แน่นอน จะด้วยมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม ก็ทำให้พวกมันเจ็บปวดได้ ถ้าต้องการมีชีวิตอยู่ถึงวันพรุ่งนี้ เราก็ต้องกลืนกินพืชผักผลไม้จำนวนไม่น้อยเลย ดังนั้น ศาสนาเชนจึงรู้ถึงแนวทางการปฏิบัติของพวกตนตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องยอมที่จะประนีประนอม คือการลดการเบียดเบียนลงให้เหลือน้อยที่สุด อันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดรองจากการไม่เบียดเบียนเลย

        วิธีนี้ก็คือวิธีที่เลี่ยงไม่ได้แม้จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในทฤษฎีของศาสนาเชน คือการกินเฉพาะผลไม้ที่หล่นบนพื้นแล้วเท่านั้น รวมถึงพืชผักและธัญพืชที่ใกล้จะร่วงสู่พื้นแล้ว เพราะเขามองว่ามันได้ตายไปแล้ว กินเฉพาะเนยที่เพิ่งทำสด ๆ ใหม่ ๆ เท่านั้น เพราะมันยังไม่เริ่มบูด การบูดของเนยแปลว่าเริ่มมีเชื้อราแล้ว และราก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ไข่นั้นแตะต้องไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันมีความสามารถที่จะฟักตัวออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตระดับสูงที่มีประสาทสัมผัสครบทั้งห้าอย่าง หัวมันก็กินไม่ได้ เพราะมันเกิดอยู่ในดิน เป็น "ราก" ของพืช ถ้าถอนรากออก พืชทั้งต้นก็มีชีวิตต่อไปไม่ได้ ผลมะเดื่อก็กินไม่ได้ เพราะมันได้รับแป้งจากตัวต่อ และตัวอ่อนของต่อก็มักจะอาศัยอยู่ในนั้น แม้เป็นผลมะเดื่อที่ร่วงตายแล้วก็ตาม ก็อาจเป็นการเบียดเบียนชีวิตของตัวต่อได้ แอปเปิ้ล มะเขือ มะเขือเทศ และผลทับทิมก็กินไม่ได้ เพราะมันมีเมล็ดมาก กินไปหนึ่งผลก็เท่ากับฆ่าชีวิตไปสิบกว่าชีวิตแล้ว บร็อคโคลี่ก็กินไม่ได้ เพราะใบของมันมีการทับซ้อนกันหลายชั้นมาก ในนั้นอาจจะมีแมลงตัวเล็ก ๆ ที่ตามองไม่เห็นซ่อนอยู่จำนวนมาก พืชผักอื่น ๆ ถ้าโตจนถึงขนาดใกล้จะตายแล้วก็สามารถกินได้อย่างสบายใจ เพียงแต่ต้องตรวจดูใบผักแต่ละใบอย่างรอบคอบก่อน มิฉะนั้นอาจจะกินถูกหนอนหรือแมลงในนั้นไปด้วย

        ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะแม้เราจะระมัดระวังมากถึงขนาดนี้แล้วก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีบาปเลยจากการทำร้ายชีวิตอื่น ดังนั้น จึงควรจะลดปริมาณอาหารลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าทีพอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เหมือนศาสนาพุทธเถรวาทที่จะไม่กินอาหารหลังเวลาเที่ยง ยิ่งกว่านั้นในรอบสัปดาห์ต้องมีวันที่ถือการอดอาหารอีกด้วย (แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงของกินเล่นเลย แค่คิดก็ผิดแล้ว)

        คุณคิดว่าผมกำลังเยาะเย้ยพวกเขาอยู่หรือเปล่า? เปล่าเลย ตรงกันข้าม ผมนับถือในการถือศีลอย่างเคร่งครัดของสาวกในศาสนาเชนอย่างเต็มหัวใจ เพราะด้วยความเมตตา ด้วยหลักการ พวกเขาสามารถควบคุมความอยากในชีวิตได้ถึงระดับที่คนธรรมดาไม่อาจปฏิบัติได้ แถมยังเป็นแนวทางประนีประนอมอย่างเต็มที่แล้วเท่าที่จะทำได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นคำตอบที่ดีมากสำหรับปัญหาที่นักมังสวิรัติมักจะประสบอยู่เสมอ เช่น "พืชก็มีชีวิต กินมังสวิรัติแล้วก็ถือว่าไม่ฆ่าชีวิตได้หรือ?" หรือ "การปลูกผักก็ต้องฆ่าแมลงตายจำนวนมาก แล้วการกินแต่ผักจะถือว่าเลี่ยงการเบียดเบียนได้หรือ?" ไม่ผิดหรอก การเป็นนักมังสวิรัติที่จะไม่ทำร้ายชีวิตใด ๆ เลยนั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ปริมาณการฆ่าของคนที่กินมังสวิรัติกับคนที่ไม่กินมังสวิรัตินั้นต่างกันอย่างชัดเจน และความตั้งใจมุ่งหมายก็ยิ่งแตกต่างห่างไกลกันราวฟ้ากับดิน เป็นดังที่ เฉียน หย่ง เสียง ( 钱永祥 ) นักวิชาการไต้หวันได้กล่าวไว้ว่า ฆ่าคนหนึ่งคนก็ถือว่าฆ่าเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคยทำผิดพลาดด้วยการฆ่าคนมาแล้ว จะสามารถทำการสังหารหมู่ผู้คนได้อย่างไม่ต้องปราณีปราศัยอะไรอีก 

        เราไม่ต้องไปกินมังสวิรัติด้วยก็ได้ แต่เราไม่มีฐานะอะไรที่จะไปตั้งข้อสงสัยต่อนักมังสวิรัติที่มาจากจิตใจอันเป็นกุศล ไม่มีสิทธิ์ไปกล่าวหาว่าพวกเขาเสแสร้ง มันดูเหมือนเรื่องตลกเจื่อน ๆ ถ้าฮิตเลอร์จะมีสิทธิ์ไปประนามฆาตกรฆ่าคนอื่น ๆ 


เหลียง เหวิน เต้า
เขียนโดย เหลียง เหวิน เต้า ( 梁文道 )
ที่มา http://cul.qq.com/a/20171031/004091.htm?pgv_ref=aio2015&ptlang=2052

ทำไมผมจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

        วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณบ่ายโมง ผมกุมมือแม่อยู่ข้างเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล พร่ำพูดที่ข้างหูของแม่ว่าให้นึกถึงความดี...